Publication Ethics

จริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
(
Publication Ethics of Journal of Medicine and Health Sciences)

          วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นวารสารที่ได้รับรองมาตรฐานระดับชาติโดยมีการดำเนินการจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารตามหลักการของ Committee on Publication Ethics (COPE) ประกอบด้วย

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์
          ผู้นิพนธ์ต้องมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินงานวิจัย และการเขียน รายงานผลการวิจัยที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ รวมทั้งการอภิปรายอย่างมีวัตถุประสงค์ถึงความสำคัญ ควรมีรายละเอียดเพียงพอและการอ้างอิงเพื่ออนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำงาน งานวิจัยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมสำหรับพิจารณาโครงการวิจัยที่ทำในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนั้น ผู้นิพนธ์บทความควรจำกัดเฉพาะผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการจัดทำต้นฉบับรวมถึงความคิดการออกแบบการศึกษา การสรุปผลการศึกษาและการเขียนต้นฉบับ ผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญควรระบุว่าเป็นผู้นิพนธ์ร่วมโดยมีบทบาทหน้าที่และสัดส่วนของความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ควรมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้นิพนธ์ร่วมที่เหมาะสมทั้งหมดถูกรวมอยู่ในบทความ ได้ตรวจสอบและเห็นพ้องกับต้นฉบับฉบับสุดท้าย นอกจากนี้ผู้นิพนธ์ควรจะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้
          1. ผู้นิพนธ์ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้เขียนงานต้นฉบับทั้งหมดด้วยตนเอง หากผู้นิพนธ์ได้ใช้ผลงานของผู้อื่นก็ควรอ้างถึงอย่างเหมาะสมและควรได้รับอนุญาตหากมีลิขสิทธิ์ ข้อความ/รูปภาพ/แผนภาพ/แผนภูมิ/ภาพประกอบ/ตารางที่มีการลอกเลียน รวมไปถึงการขโมยความคิดถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณและเป็นที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นในการส่งบทความผู้นิพนธ์ควรมีการตรวจสอบข้อความที่คล้ายคลึงกันกับโปรแกรมการตรวจสอบความซ้ำซ้อน
          2. ผู้นิพนธ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลงานของตน และรับรองว่าผลงานนั้นไม่เคยถูกตีพิมพ์ในวารสาร หรือรายงานสืบเนื่องจากการประชุม (proceedings) ใด ๆ ก่อนส่งมาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยกเว้นการเผยแพร่ในรูปแบบของบทคัดย่อ หรือมีการขยายผลการศึกษามากกว่าสิ่งที่เคยเผยแพร่ไปแล้วซึ่งผู้นิพนธ์และบรรณาธิการของรายงานสืบเนื่องจากการประชุมนั้นควรจะต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่กำลังจะเผยแพร่ และควรมีการอ้างอิงถึงการเผยแพร่ในการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย และควรมีการระบุและแจ้งต่อบรรณาธิการเสมอ
          3. ผู้นิพนธ์ไม่ควรส่งบทความกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นมายังวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ขณะเดียวกันไม่ควรเผยแพร่ต้นฉบับที่อธิบายถึงการวิจัยเดียวกันในวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ ผู้นิพนธ์สามารถส่งต้นฉบับไปยังวารสารอื่น ๆ หลังจากที่ถูกปฏิเสธจากวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว
          4. ผู้นิพนธ์ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดและข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์รวมถึงการลอกเลียนแบบ ควรตอบสนองต่อความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดของผู้ประเมิน (reviewer) หากผู้นิพนธ์ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นใด ๆ สามารถโต้แย้งได้โดยให้คำอธิบาย อย่างไรก็ตามการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะบรรณาธิการ
          5. การเปลี่ยนแปลงผลงาน การอนุมัติการเปลี่ยนแปลงการเป็นผู้นิพนธ์ เช่น เพิ่ม/ลบผู้นิพนธ์ เปลี่ยนลำดับผู้นิพนธ์ เปลี่ยนผู้นิพนธ์ประสานงานควรได้รับความยินยอมจากผู้นิพนธ์ทุกคน
          6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุในกิตติกรรมประกาศถึงแหล่งทุนที่สนับสนุนสำหรับการดำเนินการวิจัย และ/หรือการเตรียมบทความควรได้รับการเปิดเผย และระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี) ผู้นิพนธ์ทุกคนควรเปิดเผยข้อมูลแหล่งทุนและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบุคคลหรือองค์กรอื่น ๆ ที่อาจถูกมองว่ามีอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมต่อการทำงานวิจัยนี้
          7. เมื่อผู้นิพนธ์ค้นพบข้อผิดพลาดที่สำคัญหรือความไม่ถูกต้องในบทความที่เผยแพร่ของตนเอง จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้นิพนธ์ที่จะแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบทันที หากบรรณาธิการทราบจากบุคคลที่สามว่างานที่เผยแพร่มีข้อผิดพลาดเป็นหน้าที่ของผู้นิพนธ์ที่จะร่วมมือกับบรรณาธิการในการแก้ไข รวมถึงการให้หลักฐานแก่บรรณาธิการเมื่อได้รับการร้องขอ

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของทีมบรรณาธิการวารสาร
          บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ดำเนินงานวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสาร ปรับปรุง และพัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐาน พิจารณาคัดเลือกบทความเพื่อเข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร โดยพิจารณาให้เนื้อหาบทความสอดคล้องกับนโยบายของวารสารฯ คณะบรรณาธิการ ประกอบด้วยบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ ผู้บริหารที่คณบดีมอบหมายให้กำกับดูแล และกองจัดการ
          บรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการ มีหน้าที่ร่วมกันพิจารณาต้นฉบับที่ส่งมาตีพิมพ์ โดยบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการจะทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณาคัดกรองต้นฉบับที่ส่งมา หากเนื้อหาต้นฉบับนั้นมีคุณภาพและตรงกับขอบเขตของวารสารฯ บรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการมอบหมายต้นฉบับให้ผู้ประเมินทั้งภายในหรือภายนอกสถาบันที่มีความสนใจและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมเป็นผู้ประเมิน การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะทำโดยบรรณาธิการว่าต้นฉบับจะได้รับการรับตีพิมพ์หรือปฏิเสธตามคำแนะนำและความคิดเห็นของผู้ประเมิน ยกเว้นในกรณีที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือความเห็นที่แตกต่าง อาจมอบหมายให้สมาชิกในคณะหรือกองบรรณาธิการเป็นผู้ร่วมพิจารณาตัดสินใจ
          กองบรรณาธิการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งภายในและภายนอกสถาบัน มีหน้าที่ให้คำแนะนำและแนวทางด้านวิชาการ ตลอดจนกำกับดูแลเรื่องคุณภาพวารสารฯ การดำเนินงานของวารสาร ให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ให้ถูกต้องตามจริยธรรมและจรรยาบรรณ และต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นผู้พิจารณา เมื่อเกิดปัญหาทางด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ โดยบรรณาธิการจะส่งข้อมูลให้กองบรรณาธิการร่วมพิจารณาและให้ข้อคิดเห็น
          ผู้บริหารที่คณบดีมอบหมายให้กำกับดูแล มีหน้าที่เป็นผู้ที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างคณะบรรณาธิการ กับผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแลการทำงานของกองจัดการ ตลอดจนสนับสนุนในการทำงานและจัดทำวารสารอย่างเป็นอิสระเพื่อให้วารสารมีคุณภาพตามมาตรฐาน
          กองจัดการ มีหน้าที่ดำเนินงานด้านธุรการ ดูแลระบบฐานข้อมูลออนไลน์ บริหารจัดการและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานของวารสารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          คณะบรรณาธิการทั้งหมดของวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปฏิบัติการตามแนวทางมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้
          1. บรรณาธิการดำเนินการเลือกผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีจริยธรรมและจรรยาบรรณที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีในการประเมินและไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใด ๆ กับผู้นิพนธ์ต้นฉบับ โดยบทความต้องได้รับการประเมินโดยผู้ประเมินจากภายนอกสถาบันของผู้นิพนธ์อย่างน้อยสองถึงสามคนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ
          2. บรรณาธิการและกองจัดการจะไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ประเมินต่อผู้นิพนธ์และผู้นิพนธ์ต่อผู้ประเมินบทความนั้น ในทางกลับกันบรรณาธิการจะปกป้องความลับของเนื้อหาทั้งหมดที่ส่งมายังวารสารฯและการสื่อสารทั้งหมดกับผู้ประเมิน ไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ จากต้นฉบับก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้ประเมินไม่ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เว้นแต่จะตกลงเป็นอย่างอื่นกับผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน
          3. บรรณาธิการมีความรับผิดชอบ และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจว่าต้นฉบับใดที่ส่งมายังวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพควรตีพิมพ์ โดยปราศจากอิทธิพลใด ๆ บรรณาธิการอาจพูดคุยกับผู้ช่วยบรรณาธิการ หรือกองบรรณาธิการ หรือผู้ประเมินในการตัดสินใจเหล่านี้ และมั่นใจว่ากระบวนการประเมินมีความเป็นธรรมไม่ลำเอียงและตรงเวลา
          4. บรรณาธิการประเมินต้นฉบับสำหรับเนื้อหา โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังของผู้นิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนาและการเมือง ระดับการศึกษา สถานที่ทำงานหรือต้นสังกัดของผู้นิพนธ์ และอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมในการรับตีพิมพ์
          5. นโยบายบรรณาธิการของวารสารการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมความโปร่งใสและการรายงานที่ซื่อสัตย์และรายงานที่สมบูรณ์และบรรณาธิการจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ประเมินและผู้นิพนธ์มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่คาดหวัง มีกลไกที่โปร่งใสในการอุทธรณ์ต่อการตัดสินใจของบรรณาธิการ เมื่อมีการรับรู้ว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับบทความที่ตีพิมพ์ไปแล้ว รวมถึงมีประโยคที่นําไปสู่ความเข้าใจผิด หรือเป็นรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง บรรณาธิการจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขทันทีและด้วยความชัดเจน
          6. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นควรแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บริหารที่คณบดีมอบหมายให้กำกับดูแล ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งบรรณาธิการ ผู้ช่วยบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ โดยวารสารฯ มีกระบวนการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมและเป็นกลางมาเป็นคณะบรรณาธิการของวารสารฯ
          7. คณะบรรณาธิการต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับต้นฉบับที่เขียนด้วยตนเอง นอกจากนี้การส่งต้นฉบับใด ๆ ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนปกติทั้งหมดของวารสารฯ บรรณาธิการอาจมอบหมายให้ผู้ใดผู้หนึ่งในคณะบรรณาธิการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน การประเมินจะต้องได้รับการจัดการอย่างเป็นอิสระจากผู้นิพนธ์หรือบรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประเมิน
          บทความทุกบทความ รวมทั้งบทความของสมาชิกในทีมบรรณาธิการต้องผ่านกระบวนการประเมินจากผู้ประเมินจำนวน 3 ท่านซึ่งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ซึ่งอาจคัดเลือกมาจากผู้ทรงคุณวุฒิมาจากกองบรรณาธิการ ผู้ช่วยบรรณาธิการ หรือผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกสถาบันตามต้นสังกัดของผู้นิพนธ์ การประเมินจะช่วยปรับปรุงคุณภาพบทความให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการสื่อสารระหว่างบรรณาธิการกับผู้นิพนธ์ ซึ่งผู้ประเมินต้นฉบับของวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจะปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้
          1. ผู้ประเมินที่ถูกเลือกและรู้สึกว่าไม่เหมาะสมที่จะประเมินต้นฉบับหรือไม่สามารถทบทวนและประเมินที่รวดเร็ว ควรแจ้งบรรณาธิการและปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในกระบวนการประเมิน
          2. ต้นฉบับใด ๆ ที่ได้รับเพื่อการประเมินจะต้องถือเป็นเอกสารลับ ผู้ประเมินจะต้องไม่แสดงความเห็นหรือข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับกับใครหรือติดต่อผู้นิพนธ์โดยตรง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการ และควรทำลายเอกสารประเมินเมื่อเสร็จสิ้นการประเมินต้นฉบับนั้น
          3. เนื้อหาในต้นฉบับที่ส่งมาประเมินและยังไม่ได้เผยแพร่จะต้องไม่ถูกนำไปใช้ในการวิจัยของผู้ประเมินโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้นิพนธ์ ข้อมูลหรือแนวคิดที่ได้รับการประเมินจะต้องถูกเก็บเป็นความลับและไม่ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
          4. ผู้ประเมินควรตื่นตัวในประเด็นทางจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นในต้นฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และควรให้ความสนใจนำสิ่งที่พบเหล่านี้รายงานต่อบรรณาธิการ รวมถึงความคล้ายคลึงกันที่สำคัญหรือทับซ้อนกันระหว่างต้นฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารอื่น ๆ คำชี้แจงใด ๆ ที่ได้รับการรายงานก่อนหน้านี้ควรมาพร้อมกับหลักฐานการอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง ผู้ประเมินควรชี้ให้เห็นงานเผยแพร่ที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่ได้อ้างถึง
          5. ผู้ประเมินควรตระหนักถึงอคติส่วนตัวใด ๆ ที่มีและคำนึงถึงสิ่งนี้เมื่อพิจารณาต้นฉบับ ให้คำแนะนำในเชิงบวก แนะนำในสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้ การวิจารณ์เรื่องส่วนตัวของผู้นิพนธ์นั้นเป็นสิ่งไม่เหมาะสม ผู้ประเมินควรปรึกษาบรรณาธิการก่อนตกลงเพื่อประเมินบทความที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น
          6. หากผู้ประเมินแนะนำว่าผู้นิพนธ์รวมการอ้างอิงถึงผลงานของผู้ประเมินเอง สิ่งนี้จะต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงและไม่ใช่ด้วยความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนการอ้างอิงของผู้ประเมินหรือเพิ่มการมองเห็นการทำงานของผู้ประเมิน

แนวทางการดำเนินการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณ
          กรณีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้นิพนธ์ในบทความ ผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ร้องเรียนจะต้องดำเนินการมายังบรรณาธิการเป็นลายลักษณ์อักษรลำดับแรก โดยวารสารฯจะมีการตอบกลับคำร้องเรียนโดยดำเนินการเป็นเรื่องลับ และหากผู้ร้องเรียนหรือถูกร้องเรียนยังรู้สึกว่าไม่เป็นที่น่าพอใจสามารถยื่นข้อร้องเรียนนั้นต่อผู้บริหารที่คณบดีมอบหมายให้กำกับดูแล ทั้งนี้วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจะมีการติดตามความประพฤติมิชอบในกรณีเกิดข้อสงสัย ทั้งบทความวิจัยที่ได้รับและไม่ได้รับการตีพิมพ์ โดยจะมีแนวทางการดำเนินการดังนี้
          1. เมื่อได้รับข้อร้องเรียน คณะบรรณาธิการจะตรวจสอบข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยหลักเหตุและผลทางวิชาการ ในกรณีที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม บรรณาธิการจะมอบหมายให้กองจัดการประสานไปยังผู้นิพนธ์เพื่อรับทราบ ขอข้อมูลและชี้แจง โดยดำเนินการเป็นเรื่องลับ
          2. เมื่อบรรณาธิการ ได้รับคำชี้แจงและตรวจสอบแล้ว พบว่าข้อร้องเรียนนั้นเป็นจริง ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ทําผิดในเรื่อง การพิมพ์ซ้ำ/โจรกรรมผลงานผู้อื่น (duplications/plagiarism) วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจะเพิกถอนบทความนั้น (retracted) โดยจะไม่นำออกจากระบบฐานข้อมูลออนไลน์ของวารสารฯ แต่บทความนั้นจะถูกคาดด้วยคำว่า “Retracted Article” โดยวารสารฯ จะตัดสิทธิ์การตีพิมพ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี และแจ้งหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์สังกัดทราบ

เอกสารอ้างอิง
          1. Albert T. How to handle authorship disputes: a guide for new researchers. The COPE Report 2003; 2003. Available from https://publicationethics.org/files/2003pdf12_0.pdf
         2. Code of conduct and best practice guidelines for journal editors. Committee on publication ethics (COPE); 2011. Available from: http://publicationethics.org/files/Code_of_conduct_for_journal_editors_Mar11.pdf
         3. COPE ethical guidelines for peer reviewers. Committee on publication ethics (COPE); 2017. Available from: https://publicationethics.org/files/Ethical_Guidelines_For_Peer_Reviewers_2.pdf