ผลการพัฒนารูปแบบการเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด เครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
คำสำคัญ:
รูปแบบการเยี่ยมบ้าน, ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด, ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด, การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมสุขภาพบทคัดย่อ
บทนำ : พบอุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ สูงขึ้นจากปีละ 180 รายต่อแสนประชากร เป็น 450-750 ต่อแสนประชากรภายในปี 2558 จากสถิติโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ปี 2560-2562 พบผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด 169ราย 182รายและ 263ราย และพบภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด คือ แผลกดทับ กระดูกหักซ้ำ ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้และเป็นผู้ป่วยติดเตียง
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนารูปแบบการเยี่ยมบ้านและศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัดเครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
วัสดุและวิธีการศึกษา : การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- Experimental Research) กลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัดในเครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โดยการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ รูปแบบการเยี่ยมบ้านที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเอง และเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ซี่งประกอบด้วยข้อมูล 5 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินกิจวัตรประจำวัน(ADL) แบบบันทึกภาวะแทรกซ้อนขณะอยู่บ้าน แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญและทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีอัลฟาของครอนบาค ด้านความรู้ เท่ากับ 0.61 ด้านเจตคติ เท่ากับ 0.72 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามระหว่าง ตุลาคม 2563 - ตุลาคม 2564 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมานได้แก่ Wilcoxon Signed Ranks Test
ผลการศึกษา : ได้รูปแบบการเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด โดยมีการเยี่ยมบ้าน 5 ครั้งใน 8 สัปดาห์ ครั้งที่ 1 หลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล 7 วันและติดตามเยี่ยมที่บ้านในสัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 8 โดยใช้หลักการเยี่ยมบ้าน INHOMESS ประกอบกับการใช้วิดิทัศน์และคู่มือประจำตัวผู้ป่วย ส่วนสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 6 ติดตามเยี่ยมบ้านผ่านทางโทรศัพท์ หลังการเยี่ยมบ้านทุกครั้งจะมีการบันทึกข้อมูลในโปรแกรม Smart cocและHosxp เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ รพ.สต.ติดตามดูแลผู้ป่วยและพบว่าหลังการใช้รูปแบบการเยี่ยมบ้านที่พัฒนาขึ้น ผู้ป่วยมีระดับความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความรู้ เจตคติ การปฏิบัติตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.000 และไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีความพึงพอใจในรูปแบบการเยี่ยมบ้านในระดับมาก
สรุป : รูปแบบการเยี่ยมบ้านที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ในการดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัดต่อเนื่องที่บ้านและชุมชนได้
คำสำคัญ : รูปแบบการเยี่ยมบ้าน ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ได้รับการผ่าตัด การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมสุขภาพ
References
Parker M, Johansen A. Hip fracture. BMJ 2006; 333: 27-30.
ชมพูนุท พรหมภักดิ์. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย. สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา [อินเทอร์เน็ต] 2556 [เข้าถึงเมื่อ 30 พฤษภาคม 2563]; 3 : 3-5. เข้าถึงได้จาก http://senate.go.th/document/Ext6078/6078440_0002.PDF.
จิตติมา เอกวิโรจนสกุล. การป้องกันกระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยสูงอายุที่เคยกระดูกสะโพกหักในโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 สุพรรณบุรี. วารสารแพทย์เขต 4-5 2562; 38: 39-49.
อุไรวรรณ พลซา, พรรณวรดา สุวัน. การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหัก โรงพยาบาลอุดรธานี.วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี 2560; 3: 259-72.
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช. รายงานสถิติประจำปี 2562โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช. 2562.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ก่อนเท่านั้น