การพัฒนารูปแบบบริการพยาบาลเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาล

ผู้แต่ง

  • เยาวเรศ ก้านมะลิ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาล, พลัดตกหกล้ม

บทคัดย่อ

บทนำ: การพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาล เป็น 1 ใน 5 ของอุบัติการณ์จากหลายสาเหตุร่วมกันภายหลังพลัดตกหกล้มพบการบาดเจ็บทุกระดับความรุนแรงจำเป็นต้องหาวิธีการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาล พัฒนารูปแบบบริการพยาบาลเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม นำรูปแบบไปใช้จริง ศึกษาผลลัพธ์ และประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบ

วัสดุและวิธีการศึกษา: ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา 4 ระยะ คือ 1) วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา2) พัฒนารูปแบบบริการพยาบาล 3) นำรูปแบบไปใช้จริงและศึกษาผลลัพธ์ และ 4) ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบเครื่องมือที่ใช้คือ แบบบันทึกการพลัดตกหกล้ม แบบประเมินรายการปฏิบัติ แบบประเมินความพึงพอใจ และแบบประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษา: สถานการณ์พลัดตกหกล้มมีแนวโน้มสูงขึ้น รูปแบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม นวัตกรรมและการนิเทศทางการพยาบาลผลลัพธ์คือ จำนวนผู้ป่วยพลัดตกหกล้มลดลง, ไม่พบพลัดตกหกล้มซ้ำ,การปฏิบัติตามรายการ ร้อยละ 92.50, ค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.42, S.D.= 0.75) ค่าเฉลี่ยคะแนนประสิทธิภาพของรูปแบบโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.45, S.D.= 0.73)

สรุป: รูปแบบการป้องกันการพลัดตกหกล้มที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยง การปฏิบัติเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มตามระดับความเสี่ยง นวัตกรรม และการนิเทศทางการพยาบาล สามารถช่วยลดอุบัติการณ์พลัดตกหกล้ม ผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-01-01