ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติงานตามบทบาทของ อสม. ในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด 19 อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

ผู้แต่ง

  • วิชัย ศิริวรวัจน์ชัย สำนักงานสาธารณสุข อำเภอภูเพียง

คำสำคัญ:

โควิด19, เฝ้าระวังและป้องกันโรค, แรงจูงใจ

บทคัดย่อ

บทนำ: ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยและทั่วโลก อสม. อำเภอภูเพียง เป็นหนึ่งในกำลังหลักในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระดับหมู่บ้านและชุมชนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ส่งผลให้อำเภอภูเพียงและจังหวัดน่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยโรคโควิด 19

 วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอำนาจซึ่งทํานายการปฏิบัติงานตามบทบาทของ อสม. ในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด 19 อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการ “วิจัยเชิงสํารวจ” เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ นำเสนอด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน

 ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างได้รับปัจจัยสนับสนุนระดับสูง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 8.46, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.035) มีความรู้ระดับสูง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 16.56, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 2.204)  มีแรงจูงใจระดับสูง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.89, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.155) และมีการปฏิบัติงานตามบทบาทระดับสูง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.75, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ1.194) โดยการมีตำแหน่งอื่นในหมู่บ้าน และตำแหน่งในกลุ่ม อสม. มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานตามบทบาทของ อสม. อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 ตามลำดับ ความรู้ และแรงจูงใจ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติงานตามบทบาทของ อสม. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ปัจจัยด้านความรู้ และแรงจูงใจสามารถร่วมกันพยากรณ์การปฏิบัติงานตามบทบาทของ อสม. ในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด 19 ได้ร้อยละ 21.6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 มีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานในการพยากรณ์ เท่ากับ +.17119 โดยที่ความรู้เพิ่มขึ้น 1 คะแนน มีผลทำให้การปฏิบัติงานตามบทบาท อสม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และแรงจูงใจเพิ่มขึ้น 1 หน่วย มีผลทำให้การปฏิบัติงานตามบทบาท อสม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.1

 สรุป: การส่งเสริมบทบาทของ อสม. ให้มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน ควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ โดยสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระบบรวมถึงการให้สิ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานที่เพียงพอและเหมาะสมเป็นพื้นฐาน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-01-01