ทัศนคติของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต่อระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรณีศึกษา : อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา

ผู้แต่ง

  • วรรณี เจตะวัฒนะ โรงพยาบาลนาหม่อม

คำสำคัญ:

ความรู้, ทัศนคติ, ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

บทคัดย่อ

บทนำ: การบาดเจ็บและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่นภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)ภาวะสมองขาดเลือด(Stroke) และภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรมรวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ ฯลฯ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมีการให้บริการในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานบริการโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่จากข้อมูลของโรงพยาบาลนาหม่อมที่ผ่านมาผู้ป่วยดังกล่าวมารับบริการด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินจำนวนน้อย เหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาสาเหตุที่ทำให้การสื่อสารเกี่ยวกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแก่ประชาชนไม่เป็นที่แพร่หลายโดยเน้นที่บุคลากรสาธารณสุขในชุมชนคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อให้เป็นผู้เผยแพร่และสื่อสารข้อมูลแก่ให้ประชาชนในชุมชนต่อไป

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาทัศนคติของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต่อระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

วัสดุและวิธีการศึกษา: ประชากรคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในอำเภอนาหม่อมคำนวณกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครซี่และมอร์แกน ได้กลุ่มตัวอย่าง 205 คน ใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลาก ใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญและทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้วิธีอัลฟาของครอนบาค เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบ ได้แก่ หาค่า T– test และ F-test

ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับปานกลาง(ร้อยละ 88) และมีทัศนคติต่อระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 59) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่า เพศ อายุ ประสบการณ์การทำงาน ไม่มีความสัมพันธ์กับความรู้และทัศนคติต่อระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (p>.05) ส่วนระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับความรู้เกี่ยวกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)

สรุป: จากการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านมีทัศนคติที่ดีทำให้มีความพร้อมในการดูแลชุมชนเกี่ยวระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแต่ยังขาดความรู้บางส่วนจึงควรมีการส่งเสริมด้านความรู้และทักษะเกี่ยวกับบริการการแพทย์ฉุกเฉินจะทำให้เกิดความมั่นใจในการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-01-01