การสอบสวนโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1(2009) ในทัณฑสถานแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เดือนมีนาคม 2563
คำสำคัญ:
ไข้หวัดใหญ่, การระบาด, ทัณฑสถาน, ผู้ต้องขังบทคัดย่อ
บทนำ: วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ทีมสอบสวนโรคอำเภอปากพนังได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่ามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ ณ ทัณฑสถานแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงออกสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราชและ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 17–20 มีนาคม พ.ศ. 2563
วัตถุประสงค์: เพื่อยืนยันการระบาดและการวินิจฉัยโรค อธิบายลักษณะทางระบาดวิทยา ค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 (2009)
วัสดุและวิธีการศึกษา: ทบทวนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่จากฐานข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาค้นหาผู้ป่วย สัมภาษณ์ผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ, ศึกษาสภาพแวดล้อมของเรือนจำ และทำการศึกษาแบบ case–control study โดยกลุ่ม case คือ ผู้ป่วยทั้งหมด และ กลุ่ม control คือ ผู้ที่ไม่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ โดยมีพัศดีเป็นผู้สุ่มเลือกจากทุกห้องนอน ห้องละ 25–35 คน
ผลการศึกษา: พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ที่ทัณฑสถานชายแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 9–20 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้ป่วยเป็นผู้ต้องขังทั้งหมด โดยมีผู้ป่วยสงสัย (suspected case) 196 ราย ผู้ป่วยยืนยัน (confirmed case) 23 ราย รวมทั้งสิ้น 219 ราย อัตราป่วยร้อยละ 9.63 ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยทุกรายมีอาการไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รองลงมาคือ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ ร้อยละ 85.84 76.71 68.04 ตามลำดับ จากการวิเคราะห์การถดถอยพหุโลจิสติก (multiple logistic regression) เพื่อหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่พบว่ามีคนในห้องนอนเดียวกันป่วย (aOR 9.62, 95% CI5.92–15.63) มีผู้อื่นไอจามใส่ในระยะใกล้ชิด (aOR5.30, 95% CI3.49–8.05) ใช้แก้วน้ำเดียวกับผู้อื่น (aOR 2.35, 95% CI 1.48–3.71) ใช้ช้อนร่วมกับผู้อื่น (aOR 2.11, 95% CI 1.25–3.55)
สรุป: การแยกผู้ต้องขังรายใหม่ในพื้นที่ที่ไม่ปะปนกับรายเก่าอย่างน้อย 7 วัน การคัดกรองและแยกผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว การแยกช้อนแก้วน้ำ เป็นมาตรการการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในเรือนจำที่สำคัญ
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ก่อนเท่านั้น