การปรับขนาดยาต้านจุลชีพสำหรับผู้ป่วยในที่มีภาวะไตบกพร่อง ณ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • วรุณกาญจน์ ทุ่งสว่าง กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

ภาวะไตบกพร่อง, ยาต้านจุลชีพ, การปรับขนาดยา

บทคัดย่อ

บทนำ: ผู้ป่วยที่มีค่า e-GFR < 60 ml/min/1.73 m2 ต้องได้รับการทบทวนแนวทางการปรับขนาดยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช  เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยในการใช้ยา

วัตถุประสงค์: 1) เพื่อศึกษาร้อยละของจำนวนครั้งการปรับขนาดยาต้านจุลชีพสำหรับผู้ป่วยในที่มีการติดตามระดับค่า e-GFR < 60 ml/min/1.73 m2 ตามสภาวะการทำงานของไต โดยอ้างอิงแนวทางการปรับขนาดยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช 2) เพื่อศึกษามูลค่ายาต้านจุลชีพเปรียบเทียบเมื่อปรับขนาดยาและไม่ปรับขนาดยาต้านจุลชีพสำหรับผู้ป่วยในที่มีภาวะไตบกพร่อง e-GFR < 60 ml/min/1.73 m2

วัสดุและวิธีการศึกษา: ทบทวนประวัติการใช้ยาต้านจุลชีพจากเวชระเบียนและฐานข้อมูลโปรแกรม HOS4  โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2562 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชซึ่งได้รับยาต้านจุลชีพและมีการติดตามค่า e-GFR < 60 ml/min/1.73 m2 อย่างน้อยจำนวน 1 ครั้งขณะนอนรักษา

ผลการศึกษา: จากการวิจัย พบว่าผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชได้รับการสั่งปรับขนาดยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง ค่า e-GFR < 60 ml/min 1.73 m2 คิดเป็นร้อยละ 94.19  (778/826 ราย)   1) ผู้ป่วยได้รับยาที่มีการปรับขนาดยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม  คิดเป็นร้อยละ 79.89  (9,953/12,459 ครั้ง)  2)  มูลค่ายาต้านจุลชีพเมื่อปรับขนาดยาเทียบกับไม่ปรับขนาดยา คิดเป็น 141,922.46 บาท และ 232,757.52 บาท ตามลำดับ  คาดว่าลดลงร้อยละ 39.02 คิดเป็นมูลค่า 90,835.06 บาท

สรุป:  ทีมสหวิชาชีพควรตระหนักในการปรับขนาดยาต้านจุลชีพให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาและลดต้นทุนค่ายาให้แก่โรงพยาบาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-01-01