ระบาดวิทยาของการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้อง ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
คำสำคัญ:
การติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้อง, ล้างไต, ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง, ปัจจัยเสี่ยงบทคัดย่อ
บทนำ: การติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้องเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญ ที่เป็นสาเหตุของการยุติการล้างไตทางช่องท้อง และเสียชีวิตของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง การทราบอุบัติการณ์ ชนิดของเชื้อก่อโรค และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ จึงมีความสำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็นในการวางแนวทางปฏิบัติของศูนย์บำบัดทดแทนไต
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้องและการติดเชื้อซ้ำ การติดเชื้อบริเวณแผลทางออกและอุโมงค์สายที่เกิดร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้อง ผลการรักษา ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ และการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้อง
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาพรรณนาโดยการเก็บข้อมูลย้อนหลัง (descriptive study) เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนของผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช วิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ นำเสนอด้วยความถี่ ร้อยละ และ T-Test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วย 337 ราย มีการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้องรวม 535 ครั้ง โดยมีผู้ป่วย 85 ราย ติดเชื้อมากกว่า 1 ครั้ง เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ CoNS (ร้อยละ 12.5), Streptococcus spp. (ร้อยละ 10.3), E. coli (ร้อยละ 10.1) และ S.aureus (ร้อยละ 9.5) โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ร้อยละ 25.8 มีการปนเปื้อนเนื่องจากทำเทคนิคปลอดเชื้อผิดวิธี ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสียชีวิตในผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้อง ได้แก่ ระยะเวลาในการล้างไตทางช่องท้องที่มากกว่า 30 เดือน (p=0.002) ภาวะแอลบูมินในเลือดต่ำ (p=0.016) และภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (p=0.049) ส่วนการผ่าตัดเอาสายออกสัมพันธ์กับการรอดชีวิตของผู้ป่วย (p=0.009)
สรุป: เชื้อก่อโรคของการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้องในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการปนเปื้อนเนื่องจากทำเทคนิคปลอดเชื้อผิดวิธี การจัดฝึกอบรมซ้ำ (re-training) เพื่อทบทวนกระบวนการปลอดเชื้ออาจช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องได้
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ก่อนเท่านั้น