ความกังวลของผู้ปกครองซึ่งพาบุตรมารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดี ในเครือข่ายปฐมภูมิ โรงพยาบาลทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
คำสำคัญ:
คลินิกสุขภาพเด็กดี, ความกังวล, อาการนำ, ความไม่สอดคล้องบทคัดย่อ
บทนำ: เรามักเข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดของคลินิกสุขภาพเด็กดีคือ การฉีดวัคซีนเท่านั้น อีกทั้งผู้ปกครองส่วนหนึ่งอาจไม่สามารถสื่อสารให้แพทย์เข้าใจถึงความกังวลได้อย่างชัดเจน และบุคลากรทางการแพทย์เองอาจไม่ตระหนักที่จะค้นหาความกังวลเหล่านั้น จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ในอดีตมักศึกษาความกังวลของผู้ปกครองในเด็กป่วย ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงศึกษาในกลุ่มเด็กสุขภาพดีที่มารับวัคซีนตามนัด ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในเวชปฏิบัติทั่วไป
วัตถุประสงค์: งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความไม่สอดคล้องระหว่างอาการนำกับความกังวลของผู้ปกครองซึ่งมารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดี และศึกษาประเด็นความกังวล รวมถึงปัจจัยที่สัมพันธ์กับความกังวลนั้น
วัสดุและวิธีการศึกษา: งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางโดยศึกษาในคลินิกสุขภาพเด็กดีของเครือข่ายปฐมภูมิโรงพยาบาลทุ่งสงโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่จัดทำขึ้นและผ่านการทดสอบความตรงและความเชื่อมั่นจากผู้เชี่ยวชาญ (IOC ≥ 0.8 , =0.865) ผู้ปกครอง 350 คน ที่พาบุตร (อายุ 0-12 เดือน) มารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดีระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยมีพยาบาลเป็นผู้ช่วยวิจัยแห่งละ 2 ท่าน เป็นผู้สัมภาษณ์และบันทึกข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกับความกังวลของผู้ปกครองด้วยการถดถอยแบบพหุคูณโลจิสติค โดยใช้สถิติ OR ที่ P – value < 0.05
ผลการศึกษา: ความไม่สอดคล้องกันระหว่างอาการนำกับความกังวลของผู้ปกครองที่พาบุตรมารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดีคิดเป็นร้อยละ 37.14 โดยประเด็นที่กังวลมากที่สุด คือ ความผิดปกติทางกายภาพ ส่วนปัจจัยที่ความสัมพันธ์กับความกังวลของผู้ปกครองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แบ่งเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความกังวล คือ บุตรเป็นเด็กเลี้ยงยาก ขาดการสนับสนุนทางสังคม และการมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกันระหว่างบิดา-มารดา ส่วนปัจจัยป้องกันความกังวล คือ ผู้ปกครองที่มีบุตรคนที่ 2 บุตรน้ำหนักตามเกณฑ์ และไม่มีประสบการณ์การดูแลเด็กป่วยมาก่อน
สรุป: พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ปกครองที่พาบุตรมารับบริการฉีดวัคซีนที่คลินิกสุขภาพเด็กดีมีความกังวลอื่นซ่อนอยู่ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการค้นหาความกังวลอื่นของผู้ปกครองโดยใช้หลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และให้ความสนใจมากขึ้นในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความกังวลสูง
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ก่อนเท่านั้น