ผลลัพธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลางของผู้ป่วยในโรงพยาบาลท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • รัชนี ทองเสภี กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

การฟื้นฟูระยะกลาง, ผลลัพธ์การฟื้นฟู, ประสิทธิผลการฟื้นฟู, ประสิทธิภาพการฟื้นฟู, ค่าสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้น

บทคัดย่อ

บทนำ: การดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลางของผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบประสาทที่พ้นระยะวิกฤต แต่ยัง    มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวัน  มีความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ทางกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการดูแลผู้ป่วยระยะกลางโดย ทีมสหวิชาชีพจึงควรศึกษาและวิเคราะห์ผลลัพธ์ เพื่อประกอบการบริหารจัดการ และพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์: ศึกษาสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิผลและประสิทธิภาพการฟื้นฟู

วัสดุและวิธีการศึกษา: ศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลังในผู้ป่วยระบบประสาทที่รับการฟื้นฟูระยะกลาง ตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2561 ถึง กันยายน พ.ศ. 2562 ณ โรงพยาบาลท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการสืบค้นเวชระเบียน บันทึกข้อมูลพื้นฐาน คะแนนบาร์เทล (BI) แรกรับและสิ้นสุด ภาวะแทรกซ้อน คำนวณ ค่าสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิผลและประสิทธิภาพการฟื้นฟู

ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 68 คน เป็นชาย 43 คน หญิง 25 คน มีอายุเฉลี่ย 60.40 ± 16.04 ปี คะแนน BIเพิ่มขึ้น โดยพบค่าสมรรถภาพเพิ่มขึ้น 9.32 (SD 4.65) คะแนน ประสิทธิผลการฟื้นฟูร้อยละ80.79 (SD 29.26)   และค่าประสิทธิภาพการฟื้นฟู  0.41 (SD 0.26) คะแนน/ครั้ง จำนวนครั้งของการฟื้นฟู  28.08 (SD 17.63) ครั้ง ทั้งนี้ จำนวนครั้งของการฟื้นฟูมีความสัมพันธ์กับค่าสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.43, p = 0.0002) พบภาวะแทรกซ้อน 10 คน ร้อยละ (14.70) โดยส่วนใหญ่ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ และข้อติด

สรุป: ผู้ป่วยที่ได้รับการฟื้นฟูระยะกลางช่วยเหลือตนเองได้เพิ่มขึ้น และจำนวนครั้งของการรับบริการฟื้นฟูมีความสัมพันธ์กับค่าสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-07-01