ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ในเขตพื้นที่ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • สมชาย อ้นทอง งานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้าน, ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

บทคัดย่อ

บทนำ:   โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อพบมากในผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) โดยในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมคิดเป็นร้อยละ 22 ในปี 2559  จากข้อมูลในปี 2560 พบว่าในพื้นที่ตำบลกำแพงเซามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวน 616 คน คิดเป็นร้อยละ 35  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมของประเทศไทย

วัตถุประสงค์:   เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยการรับรู้ของบุคคล ปัจจัยสนับสนุน หรือสิ่งชักนำให้เกิดการปฏิบัติ และศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ในพื้นที่ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

วัสดุและวิธีการศึกษา:  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 236 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม สถิติที่ใช้คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแสควร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน

ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 75) มีอายุเฉลี่ย 65.8 ปี สถานภาพสมรส (ร้อยละ74.58) นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 69.49) มีภาวะอ้วน (ร้อยละ 69.07) ค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ยเท่ากับ 25.83 เรียนจบระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 65.25) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 44.92) รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,529.66 บาท เป็นโรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 26.69)  ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.59) มีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้าน อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 1.99, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.380) และ (ร้อยละ 67.8)  มีระดับการรับรู้อยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย = 2.38,  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.268)

สรุป: สถานภาพ และอาชีพมีความสัมพันธ์กับระดับพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม (c2= 11.144, p = 0.025 และ c2 = 33.593, p < 0.001 ตามลำดับ) และปัจจัยการสนับสนุน                 มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำ กับพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-07-01