การศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน 1 ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • สมปอง กรุณา กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

การศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน

บทคัดย่อ

บทนำ:  การจัดการเรียนการสอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน 1  ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จัดหลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาระบบการเรียนการสอนดังกล่าวเพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น         

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอน ความคิดเห็นของนักศึกษาและชุมชน ต่อวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน 1 ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

วัสดุและวิธีการศึกษา: เครื่องมือการศึกษาใช้แบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์จำนวน 31 คนที่มีต่อหลักสูตร ครอบครัวอุปถัมภ์และชุมชน ร่วมกับการสนทนากลุ่มกับนักศึกษาแพทย์ในประเด็นที่น่าสนใจและสัมภาษณ์เชิงลึกกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่นักศึกษาไปพักอยู่ด้วย จำนวน 6 ครอบครัว

ผลการศึกษา: ผลการสอบถามความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์จำนวน 31 คนพบว่า โดยภาพรวมนักศึกษามีความคิดเห็นที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.46 ± 0.41 เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่าความคิดเห็นด้านครอบครัวอุปถัมภ์อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.64 ± 0.39  ด้านอาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.57 ± 0.46  ด้านอาจารย์ผู้สอนภาคทฤษฎี อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.44 ± 0.43  และจากการสนทนากลุ่มนักศึกษาแพทย์เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาหลักสูตรพบว่า ระยะเวลาการเรียนและการจัดให้นักศึกษาแพทย์ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในชุมชนมีความเหมาะสม ด้านการพัฒนาหลักสูตรนักศึกษาเสนอให้มีการสร้างเครื่อง- มือศึกษาชุมชนล่วงหน้า รวมทั้งควรปรับคะแนนของหลักสูตรเป็นคะแนนการฝึกปฏิบัติ จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 60 จากการสัมภาษณ์แม่อุปถัมภ์จำนวน 6 ท่าน พบว่าแม้ว่าจะเป็นการพักอยู่เพียง 2 สัปดาห์ นักศึกษาแพทย์ได้สร้างความประทับใจและความผูกพันให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวอุปถัมภ์

สรุป: จากการศึกษาพบว่าโดยรวมนักศึกษาแพทย์มีความคิดเห็นด้านบวกต่อการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งรู้สึกผูกพันกับชุมชนและครอบครัวอุปถัมภ์ขณะเดียวกันแผนงานแก้ปัญหาในชุมชนที่นักศึกษาจัดทำขึ้นสามารถนำใช้เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-01