ความเครียดและการจัดการความเครียดของมารดาหลังคลอดที่ต้องแยกจากบุตร เนื่องจากบุตรป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • ปิยนุช กรุณา

คำสำคัญ:

ความเครียด, การจัดการความเครียด, บุตรป่วย, มารดาหลังคลอดที่ต้องแยกจากบุตรเนื่องจากบุตรป่วย

บทคัดย่อ

บทนำ: การเจ็บป่วยของบุตรที่ต้องดูแลรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน ไม่คาดคิดมาก่อน การถูกแยกจาก เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดแก่มารดาหลังคลอด

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความเครียดและการจัดการความเครียด เปรียบเทียบการจัดการความเครียดตามระดับความเครียด เปรียบเทียบความเครียดและการจัดการความเครียดของมารดาหลังคลอดที่ต้องแยกจากบุตรเนื่องจากบุตรป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงบรรยาย กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เป็นมารดาหลังคลอดที่ต้องแยกจากบุตร เนื่องจากบุตรป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด หรือ หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด  และเคยเยี่ยมบุตรอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่มารักษาในหอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำนวน 50 ราย วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงบรรยายและ สถิติ t-test โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

ผลการศึกษา: พบว่าความเครียดโดยรวมของมารดาหลังคลอดอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย=3.27, SD=0.47) ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านการทำหน้าที่ของมารดาเปลี่ยนแปลงไป (ค่าเฉลี่ย=3.85, SD=0.48) และมีการจัดการความเครียดแบบมุ่งเน้นการแก้ปัญหา (ค่าเฉลี่ย=3.42, SD=0.47) มากกว่ามุ่งเน้นอารมณ์ (ค่าเฉลี่ย=2.97, SD=0.39) มารดาหลังคลอดที่มีสถานภาพสมรสต่างกันมีคะแนนความเครียดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) และด้านการรับรู้ความรุนแรงการเจ็บป่วยของบุตรต่างกัน มีการจัดการความเครียดแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบการจัดการความเครียดตามระดับความเครียด พบว่าไม่แตกต่างกัน

สรุป: ความเครียดโดยรวมของมารดาหลังคลอด อยู่ในระดับมาก มีการจัดการความเครียดแบบมุ่งเน้นการแก้ปัญหามากกว่ามุ่งเน้นอารมณ์ พยาบาลควรมีแนวทางลดความเครียดและส่งเสริมความสามารถในการจัดการความเครียด เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตมารดาหลังคลอด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-01-01