ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะไส้ติ่งแตกในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบโรงพยาบาลทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • อุไร ทรงแก้ว

คำสำคัญ:

ภาวะไส้ติ่งแตกในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมเร่งด่วนที่พบบ่อยที่สุดทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กประมาณ ร้อยละ 7 ของประชากร  พบในเพศชายต่อเพศหญิง 1.3:1 วิธีการรักษาที่ดีที่สุดของไส้ติ่งอักเสบ คือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกโดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดไส้ติ่งแตกทะลุ ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาภายหลัง และบางรายอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต อาการและอาการแสดงของโรคไส้ติ่งอักเสบมีหลายอย่าง  ซึ่งทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก และบางครั้งทำให้เกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยส่งผลให้เกิดอุบัติการณ์ของไส้ติ่งแตกเพิ่มมากขึ้น

 วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะไส้ติ่งแตกในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ

 วัสดุและวิธีการศึกษา:  เป็นการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษาแผนกศัลยกรรมโรงพยาบาลทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 และได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นเป็นไส้ติ่งอักเสบ รักษาโดยการผ่าตัด จำนวน 466  ราย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา รวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยในระบบ Electronic Medical Record วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติวิเคราะห์ ได้แก่ ไคสแคว์

 ผลการศึกษา:  ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเกิดภาวะไส้ติ่งแตก ร้อยละ 18.7  เป็นเพศชาย ร้อยละ 57.47 อายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 43.59  และอายุผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไส้ติ่งแตกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ส่วนตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ เพศ  การศึกษา  อาชีพ  ภูมิลำเนา  น้ำหนักตัว  โรคประจำตัว  การรับส่งต่อ  เวรที่เข้ารับบริการ  ระยะเวลารอคอยการผ่าตัด  และระยะเวลาที่ทำการผ่าตัดไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติ

 สรุป: จากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มารับบริการด้วยอาการปวดท้องที่สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ การวินิจฉัยโรคจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจมีความแม่นยำต่ำโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี อาจต้องใช้วิธีการอื่นช่วยในการวินิจฉัยที่เร็วขึ้น เช่น ultrasonography, computerized tomography และเมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนแล้วต้องมีการจัดระบบช่องทางด่วนให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและผ่าตัดโดยเร็ว

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-01