ศึกษาเปรียบเทียบผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างมารดาหัวนมสั้นกับหัวนมปกติ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • ลมัย แสงเพ็ง
  • ยุวดี วิทยพันธ์

คำสำคัญ:

ผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, ผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาหัวนมสั้น

บทคัดย่อ

บทนำ: โรงพยาบาล มหาราชนครศรีธรรมราชได้ยกเลิกการแก้ไขหัวนมสั้นในระยะตั้งครรภ์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก  เพราะข้อมูลสนับสนุนว่าส่งผลต่อการแท้งบุตร  การคลอดก่อนกำหนด และไม่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระหว่างมารดาหัวนมสั้นกับหัวนมปกติ

วัสดุและวิธีการศึกษาเป็นวิจัยเชิงพรรณนาศึกษาไปข้างหน้า (prospective study) กลุ่มตัวอย่างเป็น คู่มารดาทารกสุขภาพดีทารกเกิดครบกำหนดน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,500 กรัม – 3,999 กรัมที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหลังคลอดโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม 2559 จำนวน 120 คู่ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือคู่มารดาและทารกที่มารดาหัวนมสั้นหรือความยาวหัวนม 0.1 - 0.7 เซนติเมตรจำนวน 60 คู่  และคู่มารดาและทารกที่มารดามีหัวนมปกติหรือความยาวหัวนม >0.7 เซนติเมตรจำนวน 60 คู่  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 2 ส่วน 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของมารดาและทารก 2) แบบบันทึกการประเมินเลี้ยงลูกด้วยนมแม่วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความแตกต่างโดยการทดสอบ chi square และ T-test

ผลการศึกษา: ผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะ 2-3 วันแรกก่อนจำหน่ายของมารดาหัวนมสั้นกับ มารดาหัวนมปกติไม่มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) และพบว่าการให้ทารกดูดนมแม่อย่างถูกวิธีแรกรับมารดาหัวนมสั้นให้ทารกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ต่ำกว่ามารดาหัวนมปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) หลังการสอน และช่วยจัดท่าให้นมแก้ไขหัวนมในมารดาหัวนมสั้นสนับสนุนการดูดบ่อยและติดตามการได้รับนมพอของทารก ทำให้ก่อนจำหน่าย การให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธีของมารดาหัวนมสั้นกับมารดาหัวนมปกติไม่มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05)

สรุป: จากผลการศึกษามารดาที่หัวนมสั้นมีอุปสรรคต่อการเริ่มต้นให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี มากกว่ามารดาหัวนมปกติ แต่หลังให้การช่วยเหลือตามแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหอผู้ป่วยหลังคลอด สามารถเพิ่มอัตราการให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี และผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดในระยะ2-3 วันแรกไม่แตกต่างจากมารดาหัวนมปกติ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-01