ประสิทธิผลของการให้สุขศึกษาแบบรายเดี่ยวต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของ ผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการในโรงพยาบาลบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • อุมา มีโพธิ์สม

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยเบาหวาน, สุขศึกษารายเดี่ยว, ระดับน้ำตาลในเลือด

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพอย่างมาก การเจ็บป่วยส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่างๆ มากมายและยังก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัว และงบประมาณด้านการจัดการสุขภาพของรัฐ การดูแลรักษาโรคเบาหวานที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ อาจบ่งชี้อย่างง่ายๆ ได้ด้วยระดับน้ำตาลในเลือดที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นผลดีต่อการป้องกันและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการให้สุขศึกษาแบบรายเดี่ยวต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลบางไทร

 วัสดุและวิธีการศึกษา:  เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experimental research) แบบ one group, pretest-posttest design ในผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลบางไทร  ตั้งแต่เดือนเมษายน- เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560  เก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพโดยใช้แบบสอบถาม และวัดระดับน้ำตาลในเลือดจำนวน 2 ครั้ง คือ ก่อนและหลังการให้สุขศึกษาแบบรายเดี่ยว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมานด้วย Paired Sample t-test

 ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเบาหวานร่วมศึกษาทั้งหมด 30 ราย เพศหญิง 19 ราย (ร้อยละ 63.7) เพศชาย 11 ราย (ร้อยละ 33.3) ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปี (ร้อยละ 53.4) ก่อนให้สุขศึกษาค่าเฉลี่ยความรู้เรื่องโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ69.9 ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับดี (2.23) ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำและอาหาร 6-8 ชม (FBS) และค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) อยู่ในระดับที่ควรปรับปรุง (175 mg/dl และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ) ภายหลังให้สุขศึกษาแบบรายเดี่ยวพบว่า ค่าเฉลี่ยความรู้เรื่องโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 75.7 ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับที่ดีขึ้น (2.47) ค่าเฉลี่ย FBS และ HbA1C ลดลง (148 mg/dl และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 สรุป: การให้สุขศึกษาแบบรายเดี่ยวในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้ในการดูแลตนเองมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการปฏิบัติตน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตามมา

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-01-01