การพัฒนาคุณภาพการดูแลกลุ่มอาการสูงอายุ โดยใช้แนวทาง S-P-I-C-E-S

ผู้แต่ง

  • ศิริมา มณีโรจน์
  • จารึก ธานีรัตน์

คำสำคัญ:

คุณภาพการดูแล, กลุ่มอาการสูงอายุ

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาการประเมินปัญหาและแผนการดูแลกลุ่มอาการสูงอายุ โดยใช้แนวทาง S-P-I-C-E-S

วิธีการศึกษา : มีการดำเนินการ 4 ระยะคือ ระยะที่1: การวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์  ระยะที่2: พัฒนาการประเมินและการดูแลกลุ่มอาการสูงอายุตามแนวทาง S-P-I-C-E-S  ระยะที่3: นำร่อง/ทดลองปฏิบัติ  และระยะที่4: การปฏิบัติและประเมินผล  กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 15 ราย และผู้ป่วยสูงอายุ จำนวน 60 ราย ที่รับการรักษา ณ.หอผู้ป่วยอายุรกรรม 4-5 โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ระหว่างเดือนมกราคม 2559 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย                               

ผลการศึกษา : พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 75.0  มีปัญหากลุ่มอาการสูงอายุ 1-3 อาการ และกลุ่มอาการที่พบมากที่สุดคือ เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 63.3  โดยประเมินผลลัพธ์ทั้งด้านกระบวนการ ด้านผู้ป่วย  และด้านทีมพยาบาล  โดยผลลัพธ์ด้านกระบวนการ พบว่าพยาบาลสามารถประเมินกลุ่มอาการสูงอายุได้ครอบคลุม 6 ประเด็นของ S-P-I-C-E-S ภายใน 24 ชั่วโมง ร้อยละ 84.4  ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย พบว่าสามารถเพิ่มคุณภาพการดูแลด้านการป้องกันการพลัดตกหกล้มได้ ร้อยละ 100 ส่วนผลด้านความพึงพอใจของทีม พบว่า พยาบาลส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่ามีความสะดวก และเหมาะสมต่อการนำไปใช้ ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม และเกิดผลดีต่อผู้รับบริการ

สรุป : แนวทางของ S-P-I-C-E-S  เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการจำ และการนำไปใช้ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงหรือบูรณาการสู่การปฏิบัติได้ จึงควรนำแนวทางดังกล่าวไปกำหนดเป็นมาตรฐานในการประเมินและดูแลกลุ่มอาการสูงอายุให้ครอบคลุมทั้งระบบต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-07-01