เปรียบเทียบการผ่าตัดมดลูกผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กกับการผ่าตัดมดลูกโดยวิธีมาตรฐาน ในโรคทางนรีเวชที่ไม่ใช่เนื้อร้าย

ผู้แต่ง

  • บัณฑิต หวังสันติวงศา

คำสำคัญ:

การผ่าตัดมดลูก, แผลผ่าตัดขนาดเล็ก, โรคทางนรีเวชที่ไม่ใช่เนื้อร้าย

บทคัดย่อ

บทนำ : การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดทางนรีเวชที่มีการทำมากที่สุดเพื่อใช้รักษาโรคของปากมดลูก, มดลูก, รังไข่ที่ไม่ใช่โรคร้ายแรงและรักษาโรคที่ร้ายแรงทางนรีเวช เช่น มะเร็งปากมดลูกในระยะแรก, มะเร็งมดลูก, มะเร็งรังไข่  การผ่าตัดมดลูกสามารถทำได้หลายวิธี การผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด การผ่าตัดมดลูกโดยอาศัยกล้องช่วย ซึ่งการผ่าตัดมดลูกโดยอาศัยกล้องช่วยได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องมีแผลขนาดเล็ก ฟื้นตัวได้เร็วพักอยู่โรงพยาบาลไม่นานและมีคุณภาพชีวิตหลังผ่าตัดที่ดีแต่ก็มีข้อจำกัดบางประการสำหรับผ่าตัดโดยวิธีนี้ การผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ในการรักษาโรคที่ไม่ร้ายแรงทางนรีเวชและให้ผลการรักษาที่ไม่แตกต่างจากการผ่าตัดมดลูกโดยวิธีมาตรฐาน

 วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลในด้านต่างๆของการผ่าตัดมดลูกผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กกับการผ่าตัดมดลูกโดยวิธีมาตรฐาน และภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัด

 วิธีการศึกษา : เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วย 70 ราย ที่ผ่าตัดมดลูกโดยวิธีมาตรฐาน (กลุ่มที่ 1 แผลมีขนาดมากกว่า 6 ซม.) กับผู้ป่วย 65 ราย ที่ผ่าตัดมดลูกผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก (กลุ่มที่ 2 แผลมีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 ซม.) ที่มาผ่าตัดตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ถึงเดือนธันวาคม  พ.ศ. 2559

 ผลการศึกษา : ค่าเฉลี่ยอายุของกลุ่มที่ 1 มีค่าเท่ากับ 45 ปี กลุ่มที่ 2 มีค่าเท่ากับ 46.9 ปี เฉลี่ยจำนวนบุตรในกลุ่มที่ 1 เท่ากับ 1.92 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 เท่ากับ 2 คน ปริมาตรของเลือดที่สูญเสียระหว่างผ่าตัดในกลุ่มที่ 1 มีค่าเท่ากับ 367 มล. มากกว่า กลุ่มที่ 2 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 336 มล. ค่าเฉลี่ยระยะเวลาทำการผ่าตัด ในกลุ่มที่ 1 ใช้เวลา 56 นาที น้อยกว่ากลุ่มที่ 2 ใช้เวลา 61 นาที ค่าเฉลี่ยวันนอนโรงพยาบาลในกลุ่มที่ 1 เท่ากับ 3.3 วัน มากว่ากลุ่มที่ 2 มีค่าเท่ากับ 2.8 วัน คะแนนความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดในกลุ่มที่ 1 มีคะแนนเฉลี่ย 5.2 คะแนน ในกลุ่มที่ 2 มีคะแนนเฉลี่ย 4.3 คะแนนและการใช้ยาแก้ปวดหลังการผ่าตัดมีค่าสูงกว่าในผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 โดยปริมาณการใช้ยาแก้ปวดเฉลี่ย 38 มก ในกลุ่มที่ 2 ปริมาณการใช้ยาแก้ปวดเฉลี่ย 12 มก ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดทั้ง 2 กลุ่ม ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ในกลุ่มที่ 1 พบแผลติดเชื้อ 2 ราย(ร้อยละ 2.8) กลุ่มที่ 2 พบการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 1 ราย(ร้อยละ 1.5)

สรุป : การผ่าตัดมดลูกผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กมีความปลอดภัยและสามารถเป็นทางเลือกของการผ่าตัดรักษาโรคทางนรีเวชที่ไม่ใช่เนื้อร้ายได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-07-01