ผลการใช้อุปกรณ์ช่วยขยายปอดในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะปอดแฟบ
คำสำคัญ:
อุปกรณ์ช่วยขยายปอดภาวะปอดแฟบบทคัดย่อ
บทนำ : ภาวะปอดแฟบ เป็นภาวะที่ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ซึ่งอาจเป็นเพียงบางส่วนของปอดหรือทั้งปอด ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 10 ปี สาเหตุของภาวะปอดแฟบอาจเกิดจากการที่อากาศถูกดูดซึม หลอดลมถูกกดเบียดจากทั้งภายในและภายนอก หรือเกิดจากการยึดติดกันของถุงลม โดยโรคที่ทำให้เกิดภาวะ ปอดแฟบที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ โรคหอบหืด หลอดลมฝอยอักเสบ วัณโรคของหลอดลม สำลักสิ่งแปลกปลอม เป็นต้น การรักษาขึ้นอยู่กับกลไกการเกิดโรค สาเหตุ ระยะเวลา และความรุนแรงของโรค โดยการทำกายภาพบำบัดทรวงอกนั้น เป็นเทคนิคพื้นฐานที่ใช้ในการรักษาแต่เนื่องจากผู้ป่วยเด็กมีข้อจำกัดด้านอายุ ระดับความสามารถ และความร่วมมือ ดังนั้นนอกจากเทคนิคทางกายภาพบำบัดพื้นฐานแล้ว จึงต้องมีการนำอุปกรณ์ช่วยในการขยายปอดมาใช้ ได้แก่ EzPAP®, PEP (Positive Expiratory Pressure) mask และ SMI (Sustained Maximal Inspiration) therapy
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการใช้อุปกรณ์ช่วยขยายปอด (lung expansion devices) ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะปอดแฟบ
วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา (retrospective descriptive study) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนในผู้ป่วยเด็กอายุ 1เดือนถึง 15ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะปอดแฟบจากเอกซเรย์ทรวงอก และได้รับการรักษาโดยอุปกรณ์ช่วยขยายปอด (lung expansion device) ได้แก่ EzPAP, PEP mask และ SMI โดยเข้ารับการรักษาที่แผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ตั้งแต่1 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะปอดแฟบทั้งสิ้น 54 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 78 เพศหญิง ร้อยละ 22 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี (ร้อยละ 46) โดยผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดคือ 1 เดือน และมากที่สุดคือ 14 ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคทางระบบหายใจ โดยเฉพาะปอดอักเสบ (ร้อยละ 48) การรักษาโดยใช้อุปกรณ์ช่วยขยายปอดสามารถทำให้ภาวะปอดแฟบดีขึ้นร้อยละ 96.3 โดยใช้เวลาเฉลี่ย 6.5 วัน ระยะเวลาที่หายเร็วที่สุดอยู่ที่ 1 วันหลังให้การรักษา และระยะเวลานานที่สุดอยู่ที่ 23 วันหลังให้การรักษามีผู้ป่วยเพียง 2 ราย ที่อาการไม่ดีขึ้นจากการรักษา คิดเป็น ร้อยละ 3.7 โดยผู้ป่วย 1 ใน 2 รายมีสาเหตุจากการสูดสำลักสิ่งแปลกปลอมจำเป็นต้องรักษาโดยการนำสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลม ทำให้อาการปอดแฟบดีขึ้น ส่วนอีกรายเป็นผู้ป่วยที่พัฒนาการล่าช้าและมีภาวะปอดเรื้อรัง
สรุป : การใช้อุปกรณ์ช่วยขยายปอด (lung expansion devices) สามารถช่วยในการรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะปอดแฟบได้ จึงอาจพิจารณานำไปใช้ในการรักษาหรือใช้ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอกพื้นฐาน
คำสำคัญ : อุปกรณ์ช่วยขยายปอดภาวะปอดแฟบ
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ก่อนเท่านั้น