พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย มีผลต่อสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพในนักเรียนช่วงชั้นที่ 2
Keywords:
พฤติกรรมการบริโคอาหาร, พฤติกรรมการออกกำลังกาย, สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ, นักเรียนช่วงชั้นที่ 2Abstract
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกายที่มี
ต่อสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ และเปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกาย และสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพระหว่างนักเรียนภาวะโภชนาการปกติกับนักเรียนภาวะโภชนาการเกิน กลุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอน เป็นนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 โรงเรียนวัดดอนทอง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อายุ 10-12 ปี
จำนวน 218 คน โดยกลุ่มตัวอย่างทำการประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกาย และทดสอบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย สถิติแบบสหสัมพันธ์ และสถิติ
t-test แบบ Independent samples
ผลการวิจัย พบว่า พฤติกรรมการบริโภคอาหาร มีผลต่อสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย เดิน/วิ่ง 1 ไมล์ (r = 0.170) ดันพื้น 1 นาที (r = 0.223) และนั่งงอตัว (r = 0.145) ส่วนพฤติกรรมการออกกำลังกาย มีผลต่อสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย เดิน/ วิ่ง 1 ไมล์ (r = -0.710) นอนยกตัว 1 นาที (r = 0.548)
นั่งงอตัว (r = -0.235) แรงบีบมือ (r = 0.457) และความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง (r = -0.582) ผลการเปรียบเทียบ พบว่า นักเรียนภาวะโภชนาการเกินมีพฤติกรรมการออกกำลังกาย เดิน/ วิ่ง 1 ไมล์ ดันพื้น 1 นาที นอนยกตัว 1 นาที แรงบีบมือ และความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง อยู่ในระดับต่ำกว่านักเรียนภาวะโภชนาการปกติ ส่วนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและนั่งงอตัวไม่พบความแตกต่าง จากผลการวิจัย สรุปว่า การบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย มีความสัมพันธ์กับสมรรถภาพทางกายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับกิจกรรมประจำวันที่เหมาะสม และการขาดการออกกำลังกายของนักเรียนภาวะโภชนาการเกินส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้นักเรียนภาวะโภชนาการเกินหันมาออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงโรคที่ร้ายแรงในอนาคต
(Journal of Sports Science and Technology, 2012; 12 (1): 145 – 154)