ผลการฝึกซ้อมบนที่สูงที่มีต่อสมรรถนะเชิงแอโรบิก แอนแอโรบิกและความสามารถของนักกีฬาเรือพาย
Keywords:
ความสูง/ ความสูง 300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง/ ความสามารถในการพายเรือAbstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบผลของการฝึกซ้อมบนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,520 เมตร เป็นเวลา 28 วัน ระหว่างก่อน(pre) และหลังสิ้นสุดโปรแกรมการฝึกซ้อมเป็นระยะเวลา 1 วัน(p1) 7 วัน(p7) และ 14 วัน (p14) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเลือด สมรรถนะเชิงแอโรบิก แอนแอโรบิก และความสามารถของนักกีฬาเรือพายด้านความอดทนและความเร็วของการพายเรือ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาเรือพายชายจำนวน 10 คน อายุระหว่าง 18-22 ปี เลือกแบบเจาะจง โดยนักกีฬาถูกเจาะเลือดเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณฮีมาโตคริต(HCT) ปริมาณฮีโมโกลบิน(HB) ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง(RBC) ปริมาณฮอร์โมนอิริทโทรโพอิติน(EPO) ทดสอบระบบพลังงานแอโรบิกและแอนแอโรบิก หลังจากนั้นนักกีฬาทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 5 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยการสุ่ม เมื่อใช้สถิติ Hotelling’s T2 ทดสอบพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ในตัวแปร HCT, HB, RBC และ EPO พลังงานแอโรบิกและแอนแอโรบิก จากนั้นทั้งสองกลุ่มถูกนำไปทดสอบความสามารถในการพายเรือ(ทีม 5 คน) ด้านความอดทนและด้านความเร็ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูลก่อนการฝึกซ้อมซึ่งการทดสอบข้างต้นได้ทดสอบในอำเภอเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร จากนั้นกลุ่มทดลองถูกกำหนดให้อยู่และฝึกซ้อมบนที่สูงประมาณ1,520 เมตร บริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำใน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กลุ่มควบคุมถูกกำหนดให้อยู่และฝึกซ้อมบนพื้นที่ราบบริเวณแม่น้ำปิง และสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร โดยทั้ง 2 กลุ่มได้ฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อมเดียวกันเป็นเวลา 28 วัน โปรมแกรมการฝึกซ้อมประกอบด้วย การฝึกแบบหนักสลับเบา การฝึกโดยใช้น้ำหนัก การฝึกแบบแอโรบิก โดยฝึกซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน ๆ ละประมาณ 3ถึง 4 ชั่วโมงและในวันอาทิตย์จะเป็นการฝึกทบทวนทักษะการพายเรือประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งโปรแกรมการฝึกซ้อมมีคณะของผู้ฝึกสอนของทีมเป็นผู้กำหนดและควบคุมการฝึกซ้อมรวมถึงช่วงการทดสอบตลอดเวลาการทำวิจัย ทั้งสองกลุ่มจะถูกเจาะเลือดทดสอบระบบพลังงานแอโรบิกและพลังงานแอนแอโรบิก ความสามารถในการพายเรือซ้ำ ในช่วงเวลา p1, p7 และ p14 โดยใช้บุคลากร อุปกรณ์และสถานที่เดียวกันกับการทดสอบก่อนการฝึกซ้อมทุกรายการ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่แอลฟ่าเท่ากับ 0.05 เมื่อวิเคราะห์ด้วยสถิติ paired t-test ภายในกลุ่มทดลอง พบว่าค่าเฉลี่ย HCT และ RBC ลดลง(2.50±1.97และ 0.31±0.19 ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในช่วง p7 สำหรับค่าตัวแปรอื่นๆของเลือดหลังสิ้นสุดโปรแกรมการฝึกซ้อมทุกช่วงเวลามีค่าไม่แตกต่างกันทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการฝึกซ้อม ส่วนค่าพลังงานแอโรบิกและพลังงานแอนแอโรบิก ในช่วง p1, p7 และ p14 มีค่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ สำหรับความสามารถด้านการพายเรือ ในช่วง p1, p7 และ p14 พบว่าเวลาในการพายเรือด้านความอดทนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2.98, 4.30 และ 9.60 ตามลำดับ สำหรับเวลาของความเร็วในการพายเรือพบว่าลดลงคิดเป็นร้อยละ 7.98, 0.27 และ 6.91 ตามลำดับ ส่วนผลการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มควบคุมพบว่าค่าเฉลี่ย RBC ลดลง (0.23±0.17) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในช่วง p7 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการฝึกซ้อม สำหรับค่าพลังงานแอนแอโรบิกเพิ่มขึ้น (0.96±0.369) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในช่วง p1 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการฝึกซ้อม แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างในช่วง p1 และ p7 พบว่าพลังงานแอนแอโรบิกลดลง (0.80+0.56) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนค่าพลังงานแอโรบิก ระหว่างก่อนและในช่วง p1, p7 และ p14 พบว่ามีค่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ สำหรับความสามารถในการพายเรือด้านความอดทน เปรียบเทียบระหว่างก่อนและในช่วง p1 และ p14 พบว่าเวลาของความอดทนในการพายเรือเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ1.37 และ 2.75 ตามลำดับ สำหรับในช่วง p7 พบว่าเวลาของความอดทนในการพายเรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 8.93 สำหรับความสามารถในการพายเรือด้านความเร็วนั้น ในช่วง p1 และ p14 พบว่าเวลาของความเร็วในการพายเรือลดลงเท่ากันคิดเป็นร้อยละ 6.30 แต่ในช่วง p7 พบว่าเวลาของความเร็วในการพายเรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 0.52 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการฝึกซ้อม จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยครั้งนี้พบว่าไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าผลการฝึกซ้อมบนที่สูงประมาณ 1,520 เมตร เป็นระยะเวลา 28 วันส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาระบบพลังงานแอโรบิก พลังงานแอนแอโรบิก และด้านโลหิตวิทยา แต่ทำให้ความสามารถในการพายเรือของนักกีฬาที่ได้รับการฝึกพัฒนาขึ้นที่ระดับพื้นที่ต่ำกว่า
(Journal of Sports Science and Thchnology,2012;12(1):75 - 87)