ปริมาณน้ำ อะไมเลส ค่าความเป็นกรด-ด่าง ในน้ำลาย และกรดแลคติกในเลือด ขณะออกกำลังกายที่มีความหนัก 70% อัตราเต้นสูงสุดของหัวใจ

Main Article Content

ปราณี อยู่ศิริ
ประทุม ม่วงมี

Abstract

งานวิจัยที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายที่มีระดับปานกลาง (ประมาณ 70% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ (MHR)) ทำให้เกิดการพัฒนาสมรรถภาพทางกายได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีดรรชนีชี้วัดหลายอย่างว่าการออกกำลังกายมีความหนักเพียงพอหรือไม่ จึงทำให้น่าศึกษาดรรชนีอื่นๆเพิ่มขึ้น การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณน้ำ อะไมเลส ค่าความเป็นกรด-ด่างในน้ำลายและกรดแลคติกในเลือดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรในขณะออกกำลังกายที่ 70% MHR และสร้างสมการพยากรณ์ปริมาณ อะไมเลสในน้ำลายจากตัวแปรที่ศึกษาร่วม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชาย อายุระหว่าง 18-25 ปี ได้มาด้วยการอาสาสมัคร แล้วทำการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จำนวน 15 คน ทุกคนเป็นผู้มีสุขภาพดี เก็บข้อมูลโดยเก็บตัวอย่างในน้ำลายและเจาะเลือดบริเวณปลายนิ้ว หาค่าปริมาณกรดแลคติกจากกลุ่มตัวอย่างขณะพัก แล้วจึงให้กลุ่มตัวอย่างเดิน-วิ่งบนทางวิ่งกลตามวิธีของวิลสัน จนกระทั่งมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ 70% MHR ณ จุดนั้นเก็บตัวอย่างน้ำลายและทำการเจาะเลือด เพื่อหาค่าของตัวแปรต่างๆที่ศึกษาเช่นเดียวกับช่วงขณะพัก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ขณะออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR ปริมาณน้ำในน้ำลายมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.871 กรัม/มิลลิลิตร ปริมาณอะไมเลสในน้ำลายมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 311,160 ยูนิต/ลิตร น้ำลายมีค่าเฉลี่ยความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 6.86 และพบปริมาณกรดแลคติกในเลือดมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.8 มิลลิโมล/ลิตร ซึ่งเป็นค่าที่สามารถบ่งชี้ถึงการออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR ถูกสร้างขึ้นโดยพิจารณาจากปริมาณกรดแลคติกในเลือดและปริมาณน้ำในน้ำลาย สมการพยากรณ์ปริมาณอะไมเลสในขณะออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR โดยสมการถดถอยพหุคูณเชิงเส้นตรง คือ ปริมาณอะไมเลส ขณะออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR = 2093008.313 – 176625.083 x (ปริมาณกรดแลคติกในเลือดขณะออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR) – 1478509.995 x (ปริมาณน้ำในน้ำลายขณะออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR) จากข้อมูลที่ปรากฏทำให้สามารถนำเสนอค่าปริมาณกรดแลคติกในเลือดและปริมาณน้ำในน้ำลายขณะออกกำลังกายที่ความหนัก 70% MHR นอกจากนี้ยังได้สมการพยากรณ์ค่าของอะไมเลสจากตัวแปรที่วัดได้ง่ายกว่า โดยค่าดังกล่าวไม่ค่อยปรากฏมากนักในเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Article Details

Section
Articles