Anaerobic, Aerobic, Skill-Related Fitness and Body Composition Changes after 8 Weeks of a College Basketball Training

Main Article Content

Le Thi Kim Nean
ประทุม ม่วงมี

Abstract

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสามารถในการทำงานแบบแอโรบิก แอนแอโรบิก สมรรถภาพที่เกี่ยวข้องกับทักษะกีฬาและการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนร่างกาย ภายหลังการฝึกก่อนฤดูกาลแข่งขันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ของนักกีฬาบาสเกตบอลระดับอุดมศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักฬาบาสเกตบอลทีมชายมหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2007 จำนวน 11 คน อายุเฉลี่ย 20.03+1.64 ปี ส่วนสูงเฉลี่ย 176.4+4.7 เซนติเมตรและน้ำหนักตัวเฉลี่ย 74.64+10.7 กิโลกรัม กลุ่มตัวอย่างได้รับการฝึกวันละ 2 ชม. (18.00-20.00 น.) วันจันทร์-ศุกร์ โดยเน้นสมรรถภาพทางกายสำหรับกีฬาบาสเกตบอล เทคนิค แทคติก และความมีน้ำใจนักกีฬา การทดสอบแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ สัปดาห์ที่ 1 สัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 8 ของการฝึก รายการที่ทดสอบคือ 1. ความสามารถในการทำงานแบบแอนแอโรบิก ได้แก่ Wingate Anaerobic Test (anaerobic power และ anaerobic capacity) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ (Handgrip Dynamometer) และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา (Leg Dynamometer) 2. ความสามารถในการทำงานแบบแอโรบิก ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก (Resting Heart Rate-RHR) การวัดความสามารถสูงสุดในการใช้ออกซิเจน (VO2max โดยใช้ Ramp test) 3. การทดสอบสมรรถภาพที่เกี่ยวข้องกับทักษะกีฬาบาสเกตบอล ได้แก่ Control Dribble Test; Thirty Seconds Passing Test; Speed Spot Shooting Test และ 4. วัดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนร่างกาย (โดยใช้ Lange Skinfold Caliper วัดความหนาของไขมันบริเวณต้นขาด้านหน้าและตอนล่างของกระดูกสะบัก)

หลังจากสัปดาห์ที่ 8 ของการฝึกตามโปรแกรมที่กำหนด นำผลการทดสอบที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่อง anaerobic power (10.53+1.056; 11.61+0.79 W/kg), anaerobic capacity (8.06+0.464; 8.82+0.924 W/kg), ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ (46.18+5.72; 50.52+5.16 kg), ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา (167.27+29.81; 189.95+23.13 kg), RHR (77.6+6.4; 66.5+7.3 beats/min), VO2max (44.17+13.6; 55.33+8.14 ml/kg/min), Control Dribble Test (มือขวา: 9.07+0.377; 8.41+0.275 seconds; มือซ้าย 9.48+0.426; 8.96+0.352 seconds), 30 Seconds Passing Test (57.41+3.5; 64.27+4.11 points), Speed Spot Shooting Test (17.72+1.73; 22.82+1.32 points) อย่างไรก็ดี ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายและน้ำหนักตัว

ผลการทดสอบหลังสัปดาห์ที่ 6 การฝึกตามโปรแกรมที่กำหนดพบว่า anaerobic power, anaerobic capacity, สมรรถภาพที่เกี่ยวข้องกับทักษะกีฬาบาสเกตบอลมีการเปลี่ยนแปลง แต่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ความสามารถสูงสุดในการนำออกซิเจนไปใช้และสัดส่วนร่างกาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

จากข้อมูลที่ปรากฏสามารถสรุปได้ว่า โปรแกรมการฝึกก่อนฤดูกาลแข่งขันของนักกีฬาบาสเกตบอลชาย มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้มีผลที่เด่นชัดในการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายรวมถึงสมรรถภาพที่เกี่ยวข้องกับทักษะกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งควรนำโปรแกรมการฝึกนี้ไปใช้เป็นพื้นฐานหรือเป็นแนวทางในอนาคตสำหรับการฝึกนักกีฬาบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย ทั้งนี้ยังอาจศึกษาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางกายด้านอื่นๆเพิ่มเติมแล้วนำมาสร้างเกณฑ์มาตรฐานของนักกีฬาบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ และอาจศึกษาเพิ่มเติมในองค์ประกอบด้านอื่นๆ เช่น ด้านจิตวิทยา โภชนาการ การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโปรแกรมการฝึกนักกีฬาบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัยในช่วงก่อนฤดูกาลแข่งขัน

Article Details

Section
Articles