Development of Thai Athlete Mood Scale

Main Article Content

อาพรรณชนิต ศิริแพทย์
นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
นพวรรณ เปียซื่อ

Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบทดสอบระดับอารมณ์ของนักกีฬาไทย และทดสอบความตรง (Validity) และความเที่ยง (Reliability) เพื่อสนับสนุนคุณสมบัติของแบบทดสอบ แบบทดสอบได้จากการทบทวนวรรณกรรม และการศึกษาเชิงคุณภาพในนักกีฬาไทยที่มีประสบการณ์ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย เพื่อนำมาวิเคราะห์เนื้อหาในการสร้างเป็นแบบทดสอบระดับอารมณ์ของนักกีฬาไทย ที่ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 33 ข้อ ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาของแบบทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้ค่าดัชนีบ่งชี้ความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .82 ก่อนที่จะนำไปทดสอบด้านความเข้าใจในเนื้อหาของคำถาม และภาษาที่ใช้

กลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งขันกีฬาในระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 342 คน อายุระหว่าง 18-21 ปี (ค่าเฉลี่ย 20.04 ปี, SD = .963) ทำการตอบแบบทดสอบระดับอารมณ์ของนักกีฬาไทย และแบบทดสอบระดับอารมณ์ของบรูเนล (Brunel of mood scale) ฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย ตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างโดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและเชิงยืนยัน ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจสามารถสกัดองค์ประกอบได้ 5 ปัจจัย ประกอบด้วย กลุ่มอารมณ์หดหู่ (7 ข้อ) กลุ่มอารมณ์กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง (7 ข้อ) กลุ่มอารมณ์เครียดและสับสน (11 ข้อ) กลุ่มอารมณ์เหนื่อยล้า (4 ข้อ) และกลุ่มอารมณ์โกรธ (4 ข้อ) ขณะที่การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพบว่า แบบทดสอบมีความเหมาะสม (X2/df = 1.118, GFI = .935, AGFI = .896, RMR = .042, SRMR = .047 และ RMSEA = .019) ผลการวิเคราะห์ครั้งนี้พบว่าความเที่ยงของแบบทดสอบชนิดความสอดคล้องภายในมีค่าในระดับสูง (.890) นอกจากนี้เมื่อทดสอบความตรงตามเกณฑ์ในแบบความตรงตามสภาพ โดยทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างแบบทดสอบระดับอารมณ์ของนักกีฬาไทยและแบบทดสอบระดับอารมณ์ของบรูเนลฉบับภาษาไทย พบว่ามีค่าสูงเช่นกัน (.817) แสดงว่าแบบทดสอบสามารถทำนายผลการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง การวิจัยครั้งนี้นำไปสู่การจัดทำคู่มือประกอบการใช้แบบทดสอบระดับอารมณ์ของนักกีฬาไทย

แบบทดสอบระดับอารมณ์ของนักกีฬาไทยซึ่งผ่านการพัฒนาและตรวจสอบอย่างเป็นระบบนี้สามารถนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยกลยุทธ์การพัฒนาสมรรถภาพทางจิตของนักกีฬาโดยใช้จิตวิทยาการกีฬาที่เหมาะสมกับนักกีฬาต่อไป

Article Details

Section
Articles