ประสบการณ์การใช้จิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬาโอลิมปิกไทย

Main Article Content

ชูศักดิ์ พัฒนะมนตรี
นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
สมโภชน์ อเนกสุข

Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ แบบปรากฏการณ์วิทยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การใช้จิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬาโอลิมปิกไทย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยที่เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 28 จำนวนทั้งสิ้น 18 คน (หญิง 11 คน ชาย 7 คน) จาก 7 ชนิดกีฬาและตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลและข้อสรุปโดยนักกีฬา

ผู้ให้ข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลแนวปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิจัยพบว่า ประสบการณ์การใช้จิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬาโอลิมปิกไทยแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักกีฬา พบว่านักกีฬาใช้การเรียนรู้จากตัวแบบ เพื่อสร้างประสบการณ์การเล่นกีฬา ใช้แรงจูงใจภายนอกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งเป้าหมายและสร้างแรงผลักดันไปสู่การเป็นนักกีฬา ช่วงการพัฒนาจากนักกีฬาธรรมดาไปสู่นักกีฬาทีมชาติไทย พบว่า นักกีฬาใช้ความสำเร็จที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาเพื่อทำให้เกิดความตั้งใจ เกิดกำลังใจในการฝึกซ้อมและแข่งขัน สร้างความภาคภูมิใจ ความรู้สึกที่ดีกับตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองจนได้รับคัดเลือกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย และใช้การฝึกเทคนิคทักษะทางจิตวิทยาการกีฬาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางกีฬา ทำให้ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ และช่วงสุดท้ายการคงสภาพการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยจนถึงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พบว่านักกีฬาใช้การตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นและทำให้นักกีฬาเกิดความพยายามที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมาย

จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬา เช่น พ่อแม่ ผู้ฝึกสอน เป็นต้น เป็นแบบอย่างของการเล่นกีฬาในช่วงต้น และจัดกิจกรรมหรือให้ประสบการณ์ที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในช่วงฝึกซ้อม จนเมื่อนักกีฬามีความสามารถระดับโอลิมปิก จึงนำการใช้การตั้งเป้าหมายเพื่อความสำเร็จมาใช้กับนักกีฬา

Article Details

Section
Articles