ผลของการฝึกออกกำลังกายด้วยการวิ่งสมาธิต่อสุขสมรรถนะและอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือนในหญิงกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนและมีอาการปวดประจำเดือน
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฝึกออกกำลังกายด้วยการวิ่งสมาธิต่อสุขสมรรถนะและอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือนในหญิงกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนและมีอาการปวดประจำเดือน อาสาสมัครเป็นนิสิตหญิงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนและปวดประจำเดือน อายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 30 คน ทำการสุ่มอย่างง่ายโดยให้กลุ่มตัวอย่างจับฉลากเพื่อแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม ซึ่งดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ จำนวน 15 คน และกลุ่มที่ได้รับการฝึกออกกำลังกายด้วยการวิ่งสมาธิ ซึ่งใช้เวลาการออกกำลังกาย 20 นาที/ครั้ง (ไม่รวมระยะอบอุ่นร่างกาย 5 นาที และระยะผ่อนคลาย 5 นาที) 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ จำนวน 15 คน อาสาสมัครทุกคนได้รับการทดสอบสุขสมรรถนะและวัดความรุนแรงของอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือน และอาการปวดประจำเดือนก่อนและหลังการทดลอง นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทำการทดสอบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการทดลองด้วยการทดสอบค่าทีแบบรายคู่
ผลการวิจัย พบว่า
1. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการทดลอง : กลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างของสุขสมรรถนะและอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือน แต่กลุ่มฝึกวิ่งสมาธิ หลังการทดลองมีความแตกต่างของสุขสมรรถนะ ได้แก่ ความอ่อนตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือน ได้แก่ โกรธง่าย/หงุดหงิด วิตกกังวล/ตึงเครียด รู้สึกร้องไห้ง่ายขึ้น/อ่อนไหวง่ายขึ้นต่อการถูกปฏิเสธ ไม่ค่อยมีสมาธิ กินมากขึ้น/อยากกินอาหารบางอย่างมากขึ้น เจ็บตึงเต้านม ปวดศีรษะ ปวดข้อ/กล้ามเนื้อ ท้องอืด ปวดประจำเดือน มีระดับความรุนแรงของอาการลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มภายหลังสิ้นสุดการทดลองที่ 12 สัปดาห์ : สมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดของกลุ่มฝึกวิ่งสมาธิมีค่ามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้ อาการข้างเคียงของการมีประจำเดือนของกลุ่มฝึกวิ่งสมาธิ ได้แก่ โกรธง่าย/หงุดหงิด วิตกกังวล/ตึงเครียด อาการเศร้า/รู้สึกสิ้นหวัง ความสนใจในกิจกรรมต่างๆในที่ทำงานลดลง ความสนใจในกิจกรรมต่างๆในบ้านลดลง ไม่ค่อยมีสมาธิ อ่อนเพลีย/ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง นอนไม่หลับ ท้องอืด ปวดประจำเดือนมีระดับความรุนแรงของอาการต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายด้วยการวิ่งสมาธิมีผลทำให้สุขสมรรถนะดีขึ้น และสามารถช่วยลดอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือนในผู้หญิงได้