อัตราการเต้นของหัวใจกับการออกกำลังกายและการฝึกกีฬา
Main Article Content
Abstract
อัตราการเต้นของหัวใจเป็นตัวแปรพื้นฐานสำคัญของการออกกำลังกายที่บ่งบอกความสัมพันธ์ของสมรรถภาพระบบหัวใจและหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ เช่น เพศ, วัย เป็นต้น เมื่อมีการออกกำลังกาย หัวใจจะทำงานมากขึ้นซึ่งเป็นผลการทำงานของระบบประสาทซิมพาธีติก, การหลั่งแอดรินาลินและนอแอดรินาลินจากต่อมหมวกไต อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นจากการออกกำลังกายนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขนส่งออกซิเจนของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่าเป็นการเพิ่ม Oxygen consumption (VO2) ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มสมรรถภาพในเชิงแอโรบิก การวัดอัตราการเต้นของหัวใจในการออกกำลังกายมี 2 วิธี ได้แก่ การวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่สัมผัสได้จากผิวหนัง เช่น บริเวณข้อมือ และการใช้เครื่องมือวัด โดยมีหน่วยเป็นจำนวนครั้งต่อนาที
การวัดอัตราการเต้นของหัวใจมีหลายแบบเช่น การวัดในขณะพัก, ขณะออกกำลังกาย และการวัดอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด การวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักควรทำภายหลังการตื่นนอนตอนเช้าประมาณ 2-5 นาทีในขณะนอนบนเตียงและไม่มีการเคลื่อนไหว ใช้การนับอัตราการเต้นของหัวใจใน 60 วินาที โดยการวัด 3 วัน แล้วหาค่าเฉลี่ยเพื่อค่าที่แม่นยำ การสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า หรือน้อยกว่า 10ครั้งต่อนาที ในช่วงที่มีการฝึกซ้อมกีฬามักเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย และการฝึกซ้อมที่หนักเกินไป (overtraining) ควรแจ้งให้โค้ชหรือแพทย์ประจำทีมทราบเพื่อตรวจให้แน่ชัด อัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายเป็นตัวบ่งชี้ของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เมื่อมีการฝึกการออกกำลังกายในเชิงแอโรบิกเป็นระยะเวลา 3-6 เดือนที่ความหนักของงานต่ำกว่า 85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (submaximal exercise) จะแสดงผลการเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่มีอัตราการเต้นของหัวใจลดลง 10-15 ครั้งต่อนาที การกำหนดความหนักของการออกกำลังกายสามารถกำหนดได้จากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่หัวใจสามารถบีบตัวได้ใน 1 นาที โดยตัวเลขที่แสดงร้อยละของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะแสดงค่าความหนักของงานที่สามารถส่งผลกับระดับสมรรถภาพทางกายที่แตกต่างกัน โดยระดับความหนักจากค่าร้อยละอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด กับร้อยละของอัตราการขนส่งออกซิเจนของกล้ามเนื้อสูงสุด (VO2max) มีความแตกต่างกันของตัวเลขถึงร้อยละ 5-10 นักกีฬาและผู้ออกกำลังกายจึงควรใช้ค่าของการใช้ออกซิเจนสูงสุดเพื่อการบ่งชี้การใช้ออกซิเจนของร่างกาย ดังนั้นการวางแผนการฝึก และการออกกำลังกายควรมีการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจแต่ละบุคคล โดยการจดบันทึกทุกวัน เพื่อใช้ประกอบกับการจัดความหนักหรือความเข้มข้นที่เหมาะสมจากการฝึกและการออกกำลังกาย โดยสามารถรักษาระดับความสมบูรณ์ของร่างกายและสมรรถภาพระบบหัวใจและหลอดเลือดให้คงสภาพได้