ผลการให้คำปรึกษาโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสต่อความเข้มแข็งทางจิตใจและความสามารถทางการกีฬา

Main Article Content

ธนิดา จุลวนิชย์พงษ์
นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
สุรินทร์ สุทธิธาทิพย์
สมโภชน์ อเนกสุข

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาผลของการให้คำปรึกษาโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสต่อความเข้มแข็งทางจิตใจและความสามารถทางการกีฬา การวิจัยเชิงทดลองนี้ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ Multifactor Experiments Having Repeated Measures on The Same Elements: Three – Factor Experiment With Repeated Measures (Case2) กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักกีฬาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนกีฬาที่ได้ทำแบบสอบถามความเข้มแข็งทางจิตใจ ฉบับภาษาไทย (ธนิดา จุลวนิชย์พงษ์ นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร และวิชัย จุลวนิชย์พงษ์ อยู่ระหว่างการตีพิมพ์) ที่มีคะแนนความเข้มแข็งทางจิตใจในระดับตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 50 ลงมาที่สมัครใจเข้าร่วมการวิจัยจำนวน 36 คน กลุ่มตัวอย่างแบ่งระดับความสามารถสูงและต่ำในการปาเป้าออกเป็นกลุ่มละ 18 คน แล้วจึงสุ่มตัวอย่างกลุ่มอย่างง่าย เพื่อจำแนกออกเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการให้คำปรึกษาโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสเทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวม กลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษาโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสเทคนิคสร้างการเปลี่ยนแปลง และกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม จำนวนกลุ่มละ 12 คน โดยแต่ละกลุ่มแบ่งระดับความสามารถสูงกลุ่มละ 6 คน และระดับความสามารถต่ำกลุ่มละ 6 คน เก็บคะแนนจากแบบสอบถามความเข้มแข็งทางจิตใจ และคะแนนจากแบบทดสอบความสามารถในการปาเป้าก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผล ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ภายหลังการทดลองลักษณะของการให้คำปรึกษาเทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวมและเทคนิคสร้างการเปลี่ยนแปลง มีผลต่อความเข้มแข็งทางจิตใจของนักกีฬากลุ่มทดลองในระยะติดตามผลแตกต่างกัน และความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการกับระยะเวลาส่งผลร่วมกันในระยะติดตามผล แต่ระหว่างนักกีฬากลุ่มที่ได้รับคำปรึกษาเทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวมและเทคนิคสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่มีระดับความสามารถทางการกีฬาสูงและต่ำมีความเข้มแข็งทางจิตใจไม่แตกต่างกัน นักกีฬากลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษาโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสด้วยเทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวม และเทคนิคสร้างการเปลี่ยนแปลง มีความเข้มแข็งทางจิตใจในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนการทดลอง

สำหรับความสามารถในการปาเป้าของนักกีฬากลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษาโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสด้วยเทคนิคสัญญาณพลังแบบองค์รวม และเทคนิคสร้างการเปลี่ยนแปลง กลุ่มเทคนิคสร้างการเปลี่ยนแปลง และกลุ่มควบคุม พบว่าไม่แตกต่างกัน ความสามารถในการปาเป้าระหว่างนักกีฬาระดับความสามารถสูงและต่ำแตกต่างกันตามระยะเวลาของการทดลองโดยไม่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น และความสามารถในการปาเป้าโดยรวมของนักกีฬาทั้งสามกลุ่มมีพัฒนาการตามระยะเวลาของการทดลอง ซึ่งพบว่าระยะก่อนการทดลองมีความแตกต่างกับระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผล แต่ระยะหลังการทดลองกับระยะติดตามผลไม่แตกต่างกัน สมการจำแนกกลุ่มนักกีฬาตามระดับความสามารถในการปาเป้า คือ D = -8.99+.20 ของคะแนนเฉลี่ยระยะก่อนการทดลองปาเป้า+.089 ของคะแนนเฉลี่ยระยะติดตามผลการปาเป้า

Article Details

Section
Articles