คุณลักษณะส่วนบุคคลและปัจจัยทางการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ทิพรฏาร์ คุยแก้วพะเนาว์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ชนะพล ศรีฤาชา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

 

การวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณลักษณะส่วนบุคคลและปัจจัยทางการบริหารที่มีผลต่อการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครราชสีมา ประชากรที่ศึกษา คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้งหมด 346 แห่งแห่งละ 1 คน โดยใช้สูตรสำหรับการวิเคราะห์การถดถอยพหุ(Multiple Regression Analysis) เพื่อทดสอบสมมติฐานของ (Cohen,1988) จากการคำนวณหาขนาดตัวอย่างในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ได้ จำนวน 186 คน และสนทนากลุ่มจำนวน 12 คน เพื่อให้ข้อมูลโดยเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถให้ข้อมูลอย่างละเอียด เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามและแนวทางการสนทนากลุ่ม ซึ่งแบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา วิเคราะห์หาความเที่ยง ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาซ เท่ากับ 0.96 เก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบขั้นตอนโดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และแนวทางการสนทนากลุ่มใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้แบบสอบถามเป็นคำถามปลายเปิด การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการจัดหมวดหมู่ของข้อเสนอแนะ

ผลการศึกษาพบว่า ระดับปัจจัยทางการบริหารในการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครราชสีมา ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 3.27 (S.D.=0.61) และระดับการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครราชสีมา ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.60 คะแนน (S.D.=0.63) คุณลักษณะส่วนบุคคล ในด้านอายุ มีความสัมพันธ์ระดับต่ำทางลบกับการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r= -0.238, p-value= 0.001) และพบว่าภาพรวมของปัจจัยทางการบริหาร มีความสัมพันธ์ระดับสูงกับการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=0.725, p-value<0.001) ตัวแปรปัจจัยทางการบริหารด้านเวลาและปัจจัยทางการบริหารด้านวิธีการจัดการ สามารถพยากรณ์การปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครราชสีมา ได้ร้อยละ 63.2 (R2=0.632, p-value<0.001)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-19