https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/issue/feed
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
2024-10-07T16:23:33+07:00
Athip Tanaree, M.D., Ph.D.
jmht.dmh@gmail.com
Open Journal Systems
<p>วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นโดยกรมสุขภาพจิต มีนโยบายและขอบเขตการตีพิมพ์ คือ เป็นผลงานวิจัยและผลงานวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ หรือมีประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับประเทศ</p> <p>The Journal of Mental Health of Thailand is the official journal of the Department of Mental Health, Ministry of Public Health, Thailand. Its focus and scope is a new knowledge of research and academic work in mental health and psychiatry or useful in exchanging knowledge at the national level.</p>
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/271830
ประสบการณ์ของจิตแพทย์ไทยในการพัฒนา ICD-11 : กรณีของโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราว
2024-07-01T13:17:52+07:00
พิเชฐ อุดมรัตน์
pudomratn74@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผู้นิพนธ์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรค (international classification of diseases: ICD) ฉบับที่ 11 (ICD-11) ในการจำแนกกลุ่มโรคจิต โดยเฉพาะโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราว รวมทั้งเพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากฉบับก่อนหน้า</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ ICD-10, ICD-11 และโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราว โดยสืบค้นจากฐานข้อมูล Pubmed, ThaiJO, และสื่อสิ่งพิมพ์จากเว็บไซต์ รวมทั้งจากประสบการณ์ตรงของผู้นิพนธ์</p> <p><strong>ผล :</strong> เดิม ICD ได้มีการทบทวนเป็นระยะโดยองค์การอนามัยโลก ครั้งสุดท้ายเป็นการทบทวนครั้งที่ 10 (ICD-10) ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวน ICD-10 และเริ่มพัฒนา ICD-11 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติและคณะทำงานในการจำแนกกลุ่มโรคต่าง ๆ ซึ่งผู้นิพนธ์อยู่ในคณะทำงานกลุ่มโรคจิต และถูกมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราว จึงได้ทบทวนงานวิจัยของโรคนี้และจัดทำข้อเสนอแนะขึ้น องค์การอนามัยโลกได้รวบรวมข้อเสนอแนะของคณะทำงานทุกกลุ่มโรคแล้วจัดทำเป็น ICD-11 ฉบับร่างเพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำไปปรับปรุง ต่อมามีการทดสอบภาคสนามและการทดสอบในผู้ป่วยจริงเพื่อเปรียบเทียบคุณประโยชน์ระหว่าง ICD-11 กับ ICD-10 ในการวินิจฉัยโรค สำหรับโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราวใน ICD-11 ได้มีการปรับปรุงให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น โดยยกเลิกการแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ของ ICD-10 แต่แบ่งโรคตามมิติจำนวนครั้งของการป่วยและระยะของโรคขณะประเมินว่ายังมีอาการอยู่มากน้อยเพียงใดหรืออยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว</p> <p><strong>สรุป :</strong> การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชเป็นพลวัต ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยโรคสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามหลักฐานทางวิชาการในปัจจุบัน จิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพจิตไทยควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา ICD ครั้งต่อไป</p>
2024-09-27T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/274360
บรรณาธิการแถลง
2024-10-07T16:23:33+07:00
อธิบ ตันอารีย์
jmht.dmh@gmail.com
<p> วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 ของปี พ.ศ. 2567 โดยมีบทความพิเศษจากบรรณาธิการกิตติมศักดิ์ 1 เรื่อง คือ <em>ประสบการณ์ของจิตแพทย์ไทยในการพัฒนา </em><em>ICD-11 : กรณีของโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราว </em>โดย พิเชฐ อุดมรัตน์ ซึ่งผู้นิพนธ์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการร่วมพัฒนาเกณฑ์วินิจฉัยโรคจิตเฉียบพลันและชั่วคราว ผู้อ่านจะได้ทราบถึงแนวทางและขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติและคณะทำงานในพัฒนาการจำแนกโรคตาม ICD-11 รวมถึงประเด็นที่ยังต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมซึ่งอาจเป็นโอกาสให้บุคลากรสุขภาพจิตไทยได้มีโอกาสร่วมพัฒนา ICD ในฉบับต่อ ๆ ไป</p> <p> นอกจากนี้ยังมีบทความนิพนธ์ต้นฉบับทั้งหมด 8 เรื่อง ครอบคลุมประเด็นส่งเสริม ป้องกัน และบำบัดรักษา ในหลากหลายกลุ่มวัย ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรมและจิตใจในผู้สูงอายุสมองเสื่อม การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึก การเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตในผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท บริการแชทบอทให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต การเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในชุมชน การฝึกจิตวิทยาเชิงบวกของแกนนำชุมชนและครอบครัว ดนตรีบำบัดแบบกลุ่มในนักศึกษานานาชาติ และการกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วย TEDA4I</p> <p> ผมและกองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่านที่เชื่อมั่นและไว้วางใจส่งบทความเข้ามายังวารสาร ผู้ทรงคุณวุฒิและกองบรรณาธิการที่ช่วยพิจารณาตรวจสอบบทความ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทความทางวารสารออนไลน์ <a href="https://www.tci-thaijo.org/index.php/jmht">www.tci-thaijo.org/index.php/jmht</a> และยังสามารถส่งบทความเพื่อเข้ารับการพิจารณาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย</p>
2024-10-07T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/268824
ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมและจิตใจในผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มารับบริการในโรงพยาบาลตติยภูมิของประเทศไทย
2024-03-19T15:17:00+07:00
วัชรพล สกุลวิโรจน์
watpsy19@gmail.com
บุญศิริ จันศิริมงคล
jboonsiri@gmail.com
พรประไพ แขกเต้า
pornpai9@gmail.com
สมสุข สมมะลวน
oshinlek@gmail.com
ถนอมศรี ศรีคิรินทร์
ta_nomsri@hotmail.co.th
ตันติมา ด้วงโยธา
tuntima15@hotmail.com
จักรพงศ์ โต๊ะหมูด
Chakkraphong.tomood@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของภาวะสมองเสื่อม (behavioral and psychological symptoms of dementia: BPSD) ในผู้สูงอายุสมองเสื่อม</p> <p>วิธีการ : การสำรวจแบบภาคตัดขวางในผู้ป่วยสมองเสื่อมอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ดูแลหลักอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มารับบริการที่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิใน 13 เขตสุขภาพระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน พ.ศ. 2565 ใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมินความสามารถในการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวัน แบบประเมินอาการทางจิตประสาทของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม และแบบประเมินภาระการดูแล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย การทดสอบไคสแควร์หรือการทดสอบของฟิสเชอร์ และการถดถอยพหุโลจิสติก</p> <p><strong>ผล :</strong> กลุ่มตัวอย่าง 917 คน พบความชุก BPSD ร้อยละ 76.3 อาการที่พบมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการนอนหลับ/ปัญหาพฤติกรรมช่วงกลางคืนร้อยละ 42.5 อารมณ์หงุดหงิด/เปลี่ยนแปลงง่ายร้อยละ 40.2 ความวิตกกังวลร้อยละ 34.0 กระสับกระส่าย/ก้าวร้าวร้อยละ 30.0 และพฤติกรรมแปลกร้อยละ 23.7 ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเกิด BPSD ได้แก่ จำนวนยากิน 5 ชนิดขึ้นไปและภาระในการดูแลผู้ป่วยของผู้ดูแลในระดับมากและมากที่สุด ปัจจัยที่ลดโอกาสเกิด BPSD ได้แก่ อายุของผู้ป่วย 70 - 79 ปี (เมื่อเทียบกับ 60 - 69 ปี) และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตรงตามเวลาทุกวัน</p> <p><strong>สรุป :</strong> ความชุก BPSD พบได้กว่า 3 ใน 4 ของผู้สูงอายุสมองเสื่อม ผู้ให้บริการควรระมัดระวังการให้ยาหลายชนิดและส่งเสริมการจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วย รวมถึงให้การดูแลทางจิตสังคมให้กับผู้ดูแลเพื่อลดภาระในการดูแลผู้ป่วย</p>
2024-08-19T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/272563
การพัฒนาแนวปฏิบัติการรักษาด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึก
2024-08-03T16:11:56+07:00
สันติชัย ฉ่ำจิตรชื่น
2santichai@gmail.com
สว่างจิตร วสุวัต
jitconc33@gmail.com
กันตรัตน์ เชาว์ทัศน์
kantarat22@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการรักษาด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึกสำหรับสหวิชาชีพในโรงพยาบาลจิตเวช</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การวิจัยและพัฒนาในโรงพยาบาลจิตเวช 7 แห่ง ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2567 ตามกรอบการพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่ การวิเคราะห์ความต้องการ การพัฒนากรอบแนวคิด การร่างต้นแบบ การตรวจสอบคุณภาพ การทดลองใช้ และการขยายผล เก็บข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่มและแบบสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ใช้แนวปฏิบัติ และสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา</p> <p><strong>ผล :</strong> แนวปฏิบัติการรักษาด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึกประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ การสั่งการรักษา การขอความยินยอม การดูแลก่อนการรักษา การดูแลระหว่างการรักษา การดูแลหลังการรักษาในห้องสังเกตอาการ การดูแลหลังการรักษาในหอผู้ป่วย และการประเมินผลการรักษา มีการปรับตามข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การทบทวนแนวทางการสั่งการรักษาด้วยยาตามหลักฐานทางวิชาการปัจจุบัน การขอความยินยอมที่อิงกฎหมายปัจจุบัน เกณฑ์การติดตามสัญญาณชีพในระหว่างและหลังการรักษา เกณฑ์การประเมินภาวะสับสน และการเฝ้าระวังและติดตามภาวะแทรกซ้อนทางกายและการรู้คิดหลังการรักษา</p> <p><strong>สรุป :</strong> แนวปฏิบัติการรักษาด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึกที่พัฒนาขึ้นสามารถเป็นต้นแบบและปรับใช้แนวปฏิบัตินี้ในโรงพยาบาลจิตเวชตามแต่บริบทเพื่อส่งเสริมผลลัพธ์ที่ดีขึ้นของผู้ป่วย</p>
2024-08-19T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/270512
ผลของโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตร่วมกับแอปพลิเคชันไลน์ต่อความเข้มแข็งทางใจและภาวะกดดันด้านจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท
2024-06-11T15:30:16+07:00
อมรรัตน์ ไก่แก้ว
maythongdee22@gmail.com
ดวงกมล ปิ่นเฉลียว
maythongdee22@gmail.com
ทิพย์ฆัมพร เกษโกมล
kesthip@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อทดสอบผลของโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตร่วมกับแอปพลิเคชันไลน์ต่อความเข้มแข็งทางใจและภาวะกดดันด้านจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การศึกษากึ่งทดลองในผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและมีภาวะกดดันด้านจิตใจ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตร่วมกับแอปพลิเคชันไลน์ 5 ครั้ง ครั้งละ 60 - 90 นาที 5 สัปดาห์ต่อเนื่อง ร่วมกับการสื่อสารทางแอปพลิเคชันไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง กลุ่มเปรียบเทียบได้รับการดูแลตามปกติ วัดคะแนนแบบประเมินความเข้มแข็งทางใจและแบบประเมินภาวะกดดันด้านจิตใจ (Kessler psychological distress scale) ก่อนและหลังทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที</p> <p><strong>ผล :</strong> กลุ่มตัวอย่าง 44 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มละ 22 คน ก่อนการทดลองทั้ง 2 กลุ่มมีค่าเฉลี่ยความเข้มแข็งทางใจและมีค่าเฉลี่ยภาวะกดดันด้านจิตใจไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความเข้มแข็งทางใจสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมและสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีค่าเฉลี่ยภาวะกดดันด้านจิตใจต่ำกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมและต่ำกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ</p> <p><strong>สรุป :</strong> โปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตร่วมกับแอปพลิเคชันไลน์สามารถเพิ่มความเข้มแข็งทางใจและลดภาวะกดดันด้านจิตใจในผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท</p>
2024-09-17T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/269994
ความสามารถในการใช้งานกับความพึงพอใจของบริการแชทบอทให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต
2024-04-25T10:14:36+07:00
ภาสกร คุ้มศิริ
passakorn.koomsiri@gmail.com
ธีราพร กิตติวงศ์โสภา
nntheeraporn@gmail.com
ศศิญา จันทร์แก้ว
coconan2527@gmail.com
อัสมะห์ เซ็งสะ
asmaapsy52@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อสำรวจระดับความสามารถในการใช้งาน ความพึงพอใจ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของบริการแชทบอทให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การศึกษาย้อนหลังจากฐานบันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการแชทบอทสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ระหว่างเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 รวบรวมข้อมูลด้วยแบบบันทึกข้อมูล ประกอบด้วย ปัจจัยส่วนบุคคล ประเภทปัญหาที่มารับบริการ ความคิดเห็นเกี่ยวกับความสามารถในการใช้งาน ความพึงพอใจ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการใช้งาน นำเสนอข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยความพึงพอใจด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนและทดสอบรายคู่ด้วยวิธีการของเชฟเฟ่ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการใช้งานและความพึงพอใจด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน</p> <p><strong>ผล :</strong> กลุ่มตัวอย่าง 230 คน เป็นหญิงร้อยละ 67.0 อายุ 25 - 40 ปีร้อยละ 44.3 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 67.4 ใช้บริการแชทบอทเพื่อสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพจิตร้อยละ 36.1 กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความสามารถในการใช้งานและความพึงพอใจต่อแชทบอทให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิตในภาพรวมอยู่ในระดับมาก หญิงมีความพึงพอใจต่อแชทบอท มากกกว่าชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความพึงพอใจต่อแชทบอทมีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความสามารถในการใช้งานของแชทบอททุกด้าน ได้แก่ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ความสามารถในการเรียนรู้ และความสามารถในการจดจำวิธีการใช้งาน</p> <p><strong>สรุป :</strong> แชทบอทเป็นช่องทางที่สามารถนำมาใช้งานให้ผู้รับบริการเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตเบื้องต้น ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการได้หากแชทบอทมีระดับความสามารถในการใช้งานที่ดี</p>
2024-09-20T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/270049
การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์
2024-07-01T11:15:48+07:00
ศิลา จิรวิกรานต์กุล
plan.projectbru@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อพัฒนาและประเมินผลระบบเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (serious mental illness with high risk to violence: SMI-V) โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในชุมชน</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การวิจัยและพัฒนาในจังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึง กันยายน พ.ศ. 2566 แบ่งเป็น 5 ระยะ ได้แก่ 1) การวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหา 2) การออกแบบและพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วย SMI-V โดยอิงคู่มือของกรมสุขภาพจิตและกรอบแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน 3) การนำระบบไปใช้ในพื้นที่นำร่อง 4) การปรับปรุงระบบ และ 5) การนำระบบไปใช้จริงและประเมินผล คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ให้บริการ ภาคีเครือข่ายในชุมชน และผู้ป่วย SMI-V และญาติ/ผู้ดูแล เครื่องมือประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แบบประเมินปัญหาจิตเวช และแบบบันทึกเพื่อส่งต่อ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา</p> <p><strong>ผล :</strong> ระบบ Buriram SMI-V value chain ที่พัฒนาขึ้นและขยายการดำเนินการครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนพัฒนาระบบ พบผู้ป่วย SMI-V ได้รับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 87.7 เป็น 100 การดูแลต่อเนื่องในชุมชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.8 เป็น 99.2 และไม่พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยมีอาการกำเริบซ้ำ</p> <p><strong>สรุป :</strong> ระบบที่พัฒนาขึ้นช่วยให้เครือข่ายในชุมชนมีความเข้มแข็งและผู้ป่วยจิตเวชกลับมาดำรงชีวิตในชุมชนได้</p>
2024-09-21T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/270027
ผลของรูปแบบการฝึกอบรมแกนนำและครอบครัวพลังบวกต่อความรู้และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการใช้จิตวิทยาเชิงบวกของแกนนำและครอบครัว
2024-05-30T15:14:11+07:00
จริญญา แก้วสกุลทอง
jarinya@bcnsurat.ac.th
อัจริยา วัชราวิวัฒน์
atchariya@bcnsurat.ac.th
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการฝึกอบรมแกนนำและครอบครัวพลังบวกต่อความรู้และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการใช้จิตวิทยาเชิงบวกของแกนนำชุมชนและครอบครัว</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง ในพื้นที่นำร่องจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นแกนนำชุมชนและผู้ปกครองเด็กอายุ 9 - 15 ปี คัดเลือกแบบเจาะจงให้เข้าร่วมการฝึกอบรมกลุ่มแบบออนไลน์และออนไซต์ 5 สัปดาห์เกี่ยวกับหลักจิตวิทยาเชิงบวก การพัฒนามนุษย์ สิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน สร้างวินัยเชิงบวก และการส่งเสริมทักษะการคิดเชิงบริหาร เครื่องมือวัดผล ได้แก่ แบบทดสอบความรู้ แบบประเมินการรับรู้ความสามารถ และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา การทดสอบค่าทีแบบไม่เป็นอิสระต่อกัน (paired t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา</p> <p><strong>ผล :</strong> กลุ่มตัวอย่าง 30 คน อายุเฉลี่ย 44.6 <u>+</u> 4 ปี เป็นหญิงร้อยละ 83.3 เป็นแกนนำชุมชนร้อยละ 63.3 เป็นพ่อแม่/ผู้ปกครองร้อยละ 36.6 กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความรู้และการรับรู้ความสามารถหลังการฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความพึงพอใจโดยรวมต่อรูปแบบการฝึกอบรมอยู่ในระดับมากและมีความคิดเห็นว่าการฝึกอบรมมีเนื้อหาเหมาะสม เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงกับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด</p> <p><strong>สรุป :</strong> รูปแบบฝึกอบรมแกนนำและครอบครัวพลังบวกมีแนวโน้มช่วยให้แกนนำชุมชนและครอบครัวเกิดความรู้จิตวิทยาเชิงบวกและมีการรับรู้ความสามารถในการใช้ทักษะจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อดูแลสุขภาวะของบุคคลในครอบครัวและชุมชน</p>
2024-09-23T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/270888
ปัญหา อุปสรรค และแรงจูงใจของผู้ปกครองในการพาเด็กกลุ่มเป้าหมายมากระตุ้นพัฒนาการด้วย TEDA4I ตามนัดหมายในช่วงปีงบประมาณ 2564 - 2565 ในเขตสุขภาพที่ 1
2024-07-23T14:15:04+07:00
หทัยชนนี บุญเจริญ
hathaic@hotmail.com
ดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์
dtangviriyapaiboon@gmail.com
ภัทรินี ไตรสถิตย์
patrinee.t@cmu.ac.th
พิมพ์วรัชญ์ ศรีคำมูล
pimwarat.n@cmu.ac.th
สรศักดิ์ ทรายอินทร์
sorasak_sai-in@cmu.ac.th
กชกานต์ คำหลวง
kodchakan_k@cmu.ac.th
สาลินี ธำรงเลาหะพันธุ์
salinee.t@cmu.ac.th
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อสำรวจปัญหา อุปสรรค และแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ปกครองพาหรือไม่พาเด็กวัยแรกเกิดถึง 5 ปีกลุ่มเป้าหมายมารับบริการกระตุ้นพัฒนาการด้วยคู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ (Thai early developmental assessment for intervention: TEDA4I) ในปีงบประมาณ 2564 - 2565 ตามนัดหมาย</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การวิจัยแบบผสานวิธีในเขตสุขภาพที่ 1 ด้วยการศึกษาย้อนหลังจาก health data center เพื่อระบุผลการประเมินพัฒนาการและสถานะการติดตาม ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้ปกครองของเด็กกลุ่มเป้าหมายทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามปัญหา อุปสรรค และแรงจูงใจในการพาเด็กมารับการกระตุ้นพัฒนาการตามนัดหมาย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา การทดสอบ chi-square และการทดสอบ Wilcoxon rank-sum</p> <p><strong>ผล :</strong> กลุ่มตัวอย่าง 1,061 คน เป็นหญิงร้อยละ 81.0 อายุ 21 - 59 ปีร้อยละ 87.9 เด็กเป็นชายร้อยละ 67.9 และมีพัฒนาการล่าช้าอย่างน้อย 1 ด้านร้อยละ 76.7 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการพาเด็กมากระตุ้นพัฒนาการด้วย TEDA4I ได้แก่ เพศ อายุ และผลการประเมินพัฒนาการของเด็ก และระยะทางในการเดินทาง พบว่าร้อยละ 43.6 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าไม่สามารถพาเด็กมากระตุ้นพัฒนาการตามนัดหมาย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา มีปัญหาค่าใช้จ่าย และมีปัญหาการเดินทาง และในกลุ่มนี้ร้อยละ 23.8 ไม่ประสงค์นำเด็กกลับเข้าสู่ระบบเนื่องจากไม่มีเวลาและคิดว่าไม่จำเป็น ขณะที่กลุ่มที่พาเด็กมากระตุ้นพัฒนาการตามนัดหมายให้เหตุผลว่าเด็กยังมีพัฒนาการล่าช้าหรือมีพัฒนาการดีขึ้นจากการกระตุ้นครั้งล่าสุด</p> <p><strong>สรุป :</strong> ปัญหาการเดินทาง ค่าใช้จ่าย และทัศนคติของผู้ปกครองมีผลต่อการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ควรมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามตั้งแต่เด็กได้รับการประเมินพัฒนาการครั้งแรก เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงบริการและการติดตาม และส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก</p>
2024-09-26T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/265619
ผลของกิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่มต่อการรับรู้ความเครียดของกลุ่มนักศึกษาต่างชาติระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล
2024-07-23T11:26:34+07:00
J J Maung
piajjmg@gmail.com
<p><strong>วัตถุประสงค์ :</strong> เพื่อศึกษาผลของกิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่มต่อการรับรู้ความเครียดของนักศึกษาต่างชาติระดับบัณฑิตศึกษาและสำรวจประสบการณ์จากการเข้ารับกิจกรรมดนตรีบำบัด</p> <p><strong>วิธีการ :</strong> การวิจัยแบบผสานวิธี ประกอบด้วยการวิจัยกึ่งการทดลองแบบกลุ่มควบคุมไม่เท่าเทียมโดยการทดสอบก่อน-หลัง ร่วมกับการสัมภาษณ์กลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความเครียดและไม่มีปัญหาสุขภาพจิตอื่น กลุ่มทดลองได้รับกิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม 6 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง กลุ่มควบคุมได้รับดนตรีบำบัดหลังจากการวิจัยเสร็จสิ้น วัดระดับความเครียดด้วยแบบประเมินการรับรู้ความเครียดฉบับ 10 ข้อ (10-item perceived stress scale: PSS-10) ก่อนและหลังสิ้นสุดการบำบัดและแบบประเมินระดับความเครียด (visual analog scale for stress: VAS-S) ก่อนและหลังกิจกรรมแต่ละครั้ง สัมภาษณ์กลุ่มแบบกึ่งโครงสร้างเกี่ยวกับความเครียดและสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างการวิจัย เปรียบเทียบข้อมูลภายในกลุ่มด้วย Wilcoxon Signed Ranked test และระหว่างกลุ่มด้วย Mann-Whitney U test วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงอนุมาน</p> <p><strong>ผล :</strong> คะแนน PSS-10 ของกลุ่มทดลอง (n = 9) ต่ำว่ากลุ่มควบคุม (n = 9) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งก่อนและหลังสิ้นสุดการบำบัด ไม่พบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของคะแนน PSS-10 หลังสิ้นสุดการบำบัดทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แต่พบว่าคะแนน VAS-S ของกลุ่มทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังกิจกรรมแต่ละครั้ง โดยให้ความเห็นว่ารู้สึกผ่อนคลาย สงบ และสบายใจมากขึ้น</p> <p><strong>สรุป :</strong> นักศึกษาต่างชาติระดับบัณฑิตศึกษามีการรับรู้ความเครียดลดลงทันทีและชั่วคราวหลังเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่มแต่ละครั้ง ผลการศึกษาสนับสนุนว่ากิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่มควรเป็นหนึ่งในตัวเลือกการให้บริการทางสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย</p>
2024-09-26T00:00:00+07:00
Copyright (c) 2024 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย