วัสดุควบคุมคุณภาพการตรวจนับเม็ดเลือดจากเลือดรวมหลายแหล่ง
Keywords:
วัสดุควบคุมคุณภาพ, การตรวจนับเม็ดเลือด, เครื่องนับเม็ดเลือดอัตโนมัติAbstract
การเตรียมเลือดครบจากเลือดรวมหลายแหล่งให้มีความคงตัวบางส่วนสําหรับใช้เป็นวัสดุควบคุมคุณภาพในงานตรวจนับเม็ดเลือดด้วยเครื่องวิเคราะห์เม็ดเลือดอัตโนมัติ โดยเตรียมขึ้นจากการรวมเลือดที่เติมสารกันเลือดแข็งตัวชนิดซิเตรท-ฟอสเฟต-เด็กซ์โทรสของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงตามชนิดของหมู่เลือดเอหรือบี หมู่เลือดละ 3 คน ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเจาะเลือด และใช้น้ำยาที่มีสารฟอร์มาลดีไฮด์และกลูทาราลดีไฮด์เพื่อรักษาสภาพเซลล์ตามวิธีการของ Reardon และคณะ ศึกษาคุณสมบัติและความคงทนของวัสดุควบคุมคุณภาพที่เก็บรักษาไว้ 4 แบบ คือแบบเปิดใช้ครั้งเดียว (closed vial) โดยเก็บเลือด 0.5 มล. ในหลอดทดลองขนาด 1.5 มล. ที่อุณหภูมิ 4°ซ และ อุณหภูมิห้อง (25-30°ซ) และแบบเปิดใช้ซ้ำ (opened vial) โดยเก็บเลือด 2.0 มล. ในหลอดทดลองขนาด 12 x 75 มม. ที่ อุณหภูมิ 2 ระดับเช่นเดียวกัน ใช้เครื่องวิเคราะห์เม็ดเลือดอัตโนมัติ Coulter MAXM ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของ พารามิเตอร์ 9 ชนิด คือ RBC, HGB, HCT, MCV, MCH, MCHC, RDW, PLT และ WBC พบว่าวัสดุควบคุมคุณภาพที่เก็บรักษาไว้ที่ 4°ซ ในหลอดทั้ง 2 แบบ มีค่าสัมประสิทธิ์ความแปรปรวน (CV) ของพารามิเตอร์ส่วนใหญ่ต่ำกว่า ร้อยละ 3.6 ในช่วงระยะเวลาการเก็บ 2 เดือน ยกเว้น WBC และ PLT ซึ่งมีค่า CV ระหว่างร้อยละ 1.5 ถึง 9.2 และร้อยละ 10 ถึง 13 ตามลําดับ ส่วนวัสดุควบคุมคุณภาพที่เก็บที่อุณหภูมิห้องพบว่าพารามิเตอร์ต่างๆมีค่า CV ระหว่าง ร้อยละ 5 ถึง 54 เมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาตลอด 2 เดือนกับค่าเฉลี่ยและช่วง 2 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ คํานวณจากสัปดาห์แรก (mean ± 2SD) พบว่า วัสดุควบคุมคุณภาพที่เก็บรักษาไว้ที่ 4°ซ ในหลอดทั้ง 2 แบบมีค่าอยู่ในช่วง mean ± 2SD ของสัปดาห์แรก อย่างไรก็ตามค่า HCT, MCV, PLT มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเดือนที่ 2 แสดงว่าสามารถรวมเลือดหมู่เดียวกันจากคนหลายคนเพื่อเตรียมวัสดุควบคุมคุณภาพสําหรับงานควบคุมคุณภาพการตรวจ CBC โดยมีความคงทนเมื่อเก็บที่ 4° ซ ได้นาน 1 เดือน ทั้งแบบใช้ครั้งเดียวและแบบใช้ซ้ำ วัสดุควบคุมคุณภาพจากเลือดรวมหลายแหล่งสามารถจัดเตรียมได้ง่ายจากเลือดที่มีอยู่แล้วในห้องปฏิบัติการ และสามารถเตรียมได้จํานวนเพียงพอโดยไม่ต้องเจาะเลือดจากคนเพียงคนเดียวในปริมาณมาก ทั้งยังประหยัดช่วยลดการนําเข้าวัสดุควบคุมคุณภาพที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของห้องปฏิบัติการได้อีกทางหนึ่ง