การรักษาผู้ป่วยปอดอักเสบในโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากเชื้อดื้อยา Acinetobacter baumannii
Keywords:
โรคปอดอักเสบในโรงพยาบาล, เชื้อดื้อยา A. baumannii, อัตราหายจากโรค, อาการไม่พึงประสงค์Abstract
โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นโรคแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งในส่วนของผู้ป่วย โรงพยาบาล ตลอดจนกระทั่งเศรษฐกิจของประเทศ โดย A. baumannii เป็นเชื้อโรคก่อโรคที่พบบ่อย และมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลการศึกษาสูตรยาที่ใช้รักษา อัตราหายจากโรค และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ยาต้านจุลชีพ โดยศึกษาเชิงพรรณนาแบบรวบรวมข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนของผู้ป่วยในที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบในรพ.จากเชื้อดื้อยา A. baumannii ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2549 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2550 พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 70 ราย ใช้ยา 95 ครั้ง เป็นเพศชาย 31 ราย (ร้อยละ 44.3) อายุเฉลี่ย 68.3±15.4 ปี (31-100 ปี) ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อ A. baumannii ที่ดื้อต่อยาทุกชนิดจากการทดสอบความไวพบ 63 ครั้ง (ร้อยละ 66.3) ยาต้านจุลชีพที่ใช้หลังจากทราบผลเพาะเชื้อ ได้แก่ ยาเบต้าแลคแทม-เบต้าแลคแทมเมสอินฮิบิเตอร์ (ร้อยละ 23.2) และยาคาร์บาพีเนม (ร้อยละ 13.7) ผลการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา A. baumannii พบว่ามีผู้ป่วยหายจากโรค 45 จาก 95 ครั้ง (ร้อยละ 47.4) ค่ามัธยฐานของระยะเวลาให้ยาต้านจุลชีพ 12 วัน (2-36 วัน) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ ได้แก่ maculopapular rash หลังจากได้รับยาเซฟแทซิดีม ยาเซโฟเพอราโซน/ซัลแบคแทม ยาอิมมิพีเนม/ซิลลาสแตติน และยาโคลิส-ติน ด้านความเป็นพิษต่อไต พบการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในระหว่างที่ได้รับยาต้านจุลชีพ 14 ครั้ง (ร้อยละ 14.7) ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาโคลิสตินร่วมด้วย 7 ครั้ง (ร้อยละ 50) ยาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อดื้อยา A. baumannii มักประกอบด้วยยาเซโฟเพอราโซน/ซัลแบค-แทม หรือคาร์บาพีเนมเป็นหลัก ผู้ป่วยมีอัตราหายจากโรคร้อยละ 47.4 และไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายรุนแรง