อะพอพโทซิส: วิถีและการตรวจวัด
Keywords:
อะพอพโทซิส, แคสเปส, โปรตีนบีซีแอล 2Abstract
อะพอพโทซิสเป็นขบวนการตายที่ถูกควบคุมโดยยีน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและรักษาสมดุลของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ การควบคุมอะพอพโทซิสที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับการก่อโรคเช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคออโตอิมมูน และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ วิถีอะพอพโทซิสมี 2 แบบคือ 1) วิถีจากภายนอกที่เหนี่ยวนำโดย death receptor และ 2) วิถีจากภายในที่มีไมโตคอนเดรียกับอะพอพโทโซมเป็นตัวกลาง อะพอพโทซิสสามารถตรวจสอบได้หลายวิธีเช่นการสังเกตรูปสัณฐานของเซลล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ โดยเซลล์ที่เกิดอะพอพโทซิสจะหดตัว ผนังเซลล์โป่งพอง โครมาตินจับตัวแน่น และมีการแยกย่อยของดีเอ็นเอ วิธีนี้ใช้ตรวจสอบอะพอพโทซิสในระยะสุดท้ายอย่างคร่าวๆ แต่ยังไม่สามารถจำแนกชนิดการตายได้อย่างแม่นยำ การตรวจยืนยันโดยวิธีที่มีความจำเพาะจึงมีความสำคัญ เช่น การใช้ Annexin V ในการจับกับ phosphatidylserine ที่เยื่อหุ้มพลาสมา การตรวจสอบการแยกตัวของดีเอ็นเอด้วย electrophoresis gels หรือ TUNEL การวิเคราะห์หน้าที่ของไมโตคอนเดรียระหว่างที่เกิดอะพอพโทซิส และ การวิเคราะห์ทางชีวเคมีของการตายแบบอะพอพโทซิสอื่นๆ การตรวจอะพอพโทซิสดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีประโยชน์ในการบ่งชี้การเกิดอะพอพโทซิสและอธิบายถึงวิถีการเกิดอะพอพโทซิส ด้วยเหตุนี้การตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวจึงนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการตายอะพอพโทซิสที่ผิดปกติ และใช้ในการศึกษาวิจัยถึงเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของสารที่มีคุณค่าในการออกแบบและพัฒนายาที่เกี่ยวข้องกับวิถีอะพอพโทซิสต่อไป