ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะ พบเชื้อรายใหม่ที่เกิดจากตัวผู้ป่วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ฉวีวรรณ พงษ์วงษ์ Faculty of Public Health, Khon Kaen University
  • พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ Faculty of Public Health, Khon Kaen University
  • กรรณิการ์ ตฤณวุฒิพงษ์ The Office of Disease Prevention and Control 7th Khon Kaen

คำสำคัญ:

วัณโรค, ความล่าช้าในการรักษา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อรายใหม่ และระยะเวลา ความชุกของความล่าช้า โดยศึกษาจากฐานข้อมูล (Data set) ที่ถูกรวบรวมไว้ ซึ่งเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกวัณโรคในโรงพยาบาลของรัฐ 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ มหาสารคาม นครราชสีมาและขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 1ตุลาคม พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556 วิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทั่วไปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ มัธยฐาน ควอไทล์ที่ 1และควอไทล์ที่3 วิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบตัวแปรเดี่ยว โดยใช้สถิติ Simple logistic regression วิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรพหุ โดยใช้สถิติ Multiple logistic regression แสดงผลด้วยค่า Adjusted odds ratio (ORadj)และช่วงเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 (95% CI)

           ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,366 คน มีความชุกของความล่าช้าที่เกิดจากตัวผู้ป่วยมากกว่า 30 วัน พบร้อยละ 44.1 (95%CI = 41.4-46.7) เมื่อวิเคราะห์ตัวแปรพหุพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าในการรักษาที่เกิดจากผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ ≤ 50 (ORadj= 1.64, 95% CI= 1.29-2.09) ว่างงาน/เกษตรกร (ORadj=1.36, 95% CI= 1.06-1.76) ดื่มแอลกอฮอล์ (ORadj= 1.39, 95% CI= 1.07-1.80) ไม่เคยเข้ารับการบริการที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ (ORadj= 2.24, 95% CI= 1.76-2.85) ไม่เคยแสวงหาการรักษากับหมอพื้นบ้าน/หมอผี/ฤาษี (ORadj= 3.63, 95% CI= 2.51-5.25) มีระยะทางจากบ้านถึงสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ > 10 กิโลเมตร (ORadj= 1.35, 95% CI=1.07-1.69)

          จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ควรมีการดำเนินงานเชิงรุกอย่างเป็นระบบ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ รณรงค์ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับวัณโรค สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเฝ้าระวัง และตรวจคัดกรองโรคในกลุ่มเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชน ให้ได้รับการรักษาในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐโดยเร็วที่สุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-24

ฉบับ

บท

บทความวิจัย