การพัฒนารูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชน

ผู้แต่ง

  • จิรวรรณ์ ประคีตะวาทิน
  • สุทธีพร มูลศาสตร์
  • กฤษณาพร ทิพย์กาญจนเรขา

คำสำคัญ:

การจัดการการดูแล, โรคความดันโลหิตสูง, ไตเสื่อม

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาและความต้องการการดูแลของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชน 2) พัฒนารูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชน 3) ประเมินความเหมาะสมของกิจกรรมและความพร้อมของชุมชนต่อการดำเนินงานของรูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชนที่พัฒนาขึ้น

          กลุ่มตัวอย่างแบ่งตามระยะการพัฒนารูปแบบ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาปัญหาและความต้องการการดูแลของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงฯ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงฯ และผู้ดูแล ในตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จำนวน 24 คน ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชนกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรสาธารณสุข และผู้นำชุมชน จำนวน 12 คน และระยะที่ 3 การประเมินความเหมาะสมของกิจกรรมและความพร้อมของชุมชนต่อการดำเนินงานของรูปแบบฯ กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรสาธารณสุขและตัวแทนชุมชน จำนวน30 คน กลุ่มตัวอย่างทั้งสามระยะถูกเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ 1) แนวทางสนทนากลุ่มเพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการการดูแลของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชน 2) แนวทางสนทนากลุ่มเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการการดูแลผู้ป่วย แนวคำถามแบบไม่มีโครงสร้างผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณ จำนวน 5 ท่าน มีค่าความตรงเชิงเนื้อหาอยู่ระหว่าง .88-1.00 3) แบบประเมินความเหมาะสมของกิจกรรมและความพร้อมของชุมชนต่อการดำเนินงานของรูปแบบฯ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

          ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมในชุมชนมีปัญหาและความต้องการการดูแลทั้งด้านร่างกายจิตใจ จิตวิญญาณ สังคม และการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ 2) รูปแบบการจัดการการดูแลฯ ประกอบด้วย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ทันเวลา การประเมินสุขภาพและการวางแผนการดูแล ในระดับหน่วยบริการ ชุมชน และครอบครัวการดำเนินงานตามแผน การตรวจสอบ และการประเมินผล 3) บุคลากรสาธารณสุขและตัวแทนชุมชนมีความคิดเห็นว่ากิจกรรมของรูปแบบมีความเหมาะสมและชุมชนมีความพร้อมต่อการดำเนินงานตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในระดับมากที่สุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-02