วารสารควบคุมโรค https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ <p><strong>วารสารควบคุมโรค </strong>เป็นวารสารทางวิชาการ จัดเผยแพร่โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข</p> <p>โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วิทยาการเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ขอบเขตรวมโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นนิพนธ์ต้นฉบับ รายงานผลการปฏิบัติงาน บทความฟื้นวิชา รายงานผู้ป่วย และการสอบสวนโรค</p> <p><strong>กำหนดออก</strong> ฉบับละ 15-20 บทความ ปีละ 4 ฉบับ หรือราย 3 เดือน<br />ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม<br />ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน<br />ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน<br />ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม</p> <p><strong>Online ISSN:</strong> 2651-1649 <strong>Print ISSN:</strong> 1685-6481</p> กองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข en-US วารสารควบคุมโรค 1685-6481 <p>บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารควบคุมโรค ถือว่าเป็นผลงานทางวิชาการหรือการวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของกรมควบคุมโรค ประเทศไทย หรือกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนจำต้องรับผิดชอบต่อบทความของตน</p> การสอบสวนอุบัติเหตุหมู่ กรณีรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อชนกับรถตู้ไม่ประจำทาง บนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4110 สายทุ่งสง-ทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 2-3 เมษายน 2566 https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/268084 <p>อุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน วันที่ 2-3 เมษายน 2566 ทีมสอบสวนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ลงสอบสวนอุบัติเหตุหมู่กรณีรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อชนกับรถตู้ไม่ประจำทาง ณ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่ออธิบายเหตุการณ์ ศึกษาลักษณะการบาดเจ็บ เสียชีวิต และปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งเสนอแนวทางป้องกันในอนาคต โดยทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วย สัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุและผู้เกี่ยวข้อง และใช้ The Haddon’ s Matrix วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บตามช่วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์ ผลการสอบสวน พบว่าอุบัติเหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 เวลา 05.53 น. บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4110 สายทุ่งสง-ทุ่งใหญ่ รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่วิ่งอยู่ช่องทางขวาขับเบี่ยงเข้ามาช่องทางซ้ายจึงได้ชนกับรถตู้ไม่ประจำทางที่วิ่งมา มีผู้ประสบเหตุ 11 ราย ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด ค่ามัธยฐานอายุ 35 ปี (อายุระหว่าง 2–61 ปี) เสียชีวิต 6 ราย (ณ จุดเกิดเหตุ 4 ราย) บาดเจ็บรุนแรง 4 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย สาเหตุการเสียชีวิตทั้ง 6 ราย เกิดจากได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ทรวงอก ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากผู้ขับขี่รถบรรถทุกพ่วง 18 ล้อ ร่างกายอ่อนล้า ขาดสมรรถนะในการขับขี่ ปัจจัยที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตเกิดจากการชนอย่างแรงทำให้ห้องโดยสารส่วนหน้ารถตู้ไม่ประจำทางยุบ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารจึงถูกอัดอยู่ในรถ และมี 4 รายไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้กระเด็นออกจากรถ 3 ราย ศีรษะกระแทกกับพื้นถนน จึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการฝึกอบรมพนักงานให้เกิดทักษะการขับขี่ปลอดภัย ตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนเดินทาง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกคน</p> ฆาลิตา วารีวนิช จิรา แก้วดำ เสริมสุข รัตนสุวรรณ ยุวธิดา พงศ์สว่าง วาสนา รักษ์ศรีทอง Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 359 370 10.14456/dcj.2024.29 การสอบสวนภาวะขาดวิตามินบี 1 ในเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ เดือนกรกฎาคม 2566 https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/267300 <p>การศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง กำหนดมาตรการรักษาและป้องกันภาวะขาดวิตามินบี 1 ในผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 1,718 ราย ระหว่างวันที่ 21–25 กรกฎาคม 2566 โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย สังเกตสิ่งแวดล้อม แบบสำรวจพฤติกรรมการบริโภค การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบสวนโรคแขนขาอ่อนแรงเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา นำเสนอด้วยจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด ผลการสอบสวนโรคพบผู้ต้องขังเพศชายเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษมีอาการเข้าได้ตามนิยามผู้ป่วยมีภาวะขาดวิตามินบี 1 จำนวน 84 ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 4.89 จำแนกเป็นผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย (ร้อยละ 4.76) และผู้ป่วยสงสัย 80 ราย (ร้อยละ 95.24) ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ร้อยละ 92.86) ชา (ร้อยละ 89.29) ปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 82.14) ผลการตรวจที่ผิดปกติได้แก่ gloss sensation ร้อยละ 36.73 pin prick sensation ร้อยละ 36.00 มีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย (polyneuropathy) ร้อยละ 100 thiamine pyrophosphate ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ร้อยละ 44.44 thyroid function ผิดปกติ ร้อยละ 12.50 ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 พบว่าบางคนมีการรับประทานอาหารอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดองหรือแปรรูป น้ำปลา ปลาร้า และอาหารกระป๋อง การป่วยของผู้ต้องขังจากภาวะขาดวิตามินบี 1 เป็นการระบาดครั้งแรกของ dry beriberi ในจังหวัดศรีสะเกษแบบมีแหล่งโรคร่วมกัน สาเหตุหลักคือ การรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วนหรือได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนร่วมกับเกิดภาวะติดเชื้อ โดยพบการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดบี 1 สัปดาห์ก่อนมีภาวะขาดวิตามินบี 1 มาตรการควบคุมโรค ได้แก่การรักษาผู้ป่วยตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ให้วิตามินบี 1-6-12 เพื่อป้องกันทุกราย ปรับเปลี่ยนโภชนาการในเรือนจำโดยการใช้ข้าวไม่ขัดสี ปรับปรุงเมนูอาหารประจำที่เพิ่มวิตามินบี 1 ให้เพียงพอ โดยเพิ่มโปรตีนจากพืชและสัตว์ และงดรับประทานอาหารที่มีสารทำลายหรือยับยั้งการดูดซึมวิตามินบี 1</p> นวรัตน์ บุญกัณหา นิธิกุล เต็มเอี่ยม พงศ์ศิริ ชิดชม เด่นดี ภูขน Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 371 382 10.14456/dcj.2024.30 ภาระโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนและระหว่างโควิด 19 ระบาดในประเทศไทย และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตภายใน 30 วันของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ปี 2559-2563 https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/268279 <p>ผลการศึกษาหลายฉบับระบุว่าการระบาดของโรคโควิด 19 มีผลต่อแนวโน้มของการติดเชื้อและความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ความรุนแรง และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตภายใน 30 วันของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก่อน (ปี 2559 - 2562) และระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19 (ปี 2563) การศึกษานี้ใช้ฐานข้อมูลประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2559-2563 โดยวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยในที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นรายสัปดาห์ โดยประเมินอัตราป่วยและอัตราการเสียชีวิตไข้หวัดใหญ่ต่อ 100,000 ประชากร และศึกษาเชิงพรรณนาเกี่ยวกับข้อมูลเพศ อายุ ภูมิภาค การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โรคประจำตัว จำนวนวันนอนโรงพยาบาล และค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับด้วยวันนอน (adjusted RW) และศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเสียชีวิตด้วยการวิเคราะห์การถดถอยลอจิสติกพหุคูณ ผลการศึกษาพบผู้ป่วยในที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จำนวน 219,365 ราย ปี 2559 – 2662 ผู้ป่วยในที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีจำนวนมากในฤดูฝนและฤดูหนาว โดยมีอัตราป่วยมากที่สุดในปี 2562 และเริ่มลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี โดยพบมากในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลังจากมีการระบาดของโรคโควิด 19 จาก 0.38 เป็น 0.74 ต่อ 100,000 ประชากร จากการวิเคราะห์การถดถอยลอจิสติกพหุคูณ พบว่าปัจจัยอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ในช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด และอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในช่วงโควิด 19 ระบาด ค่า adjusted RW และการมีโรคประจำตัว เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต นอกจากนี้พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนในช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาสนับสนุนการเพิ่มความตระหนักให้แก่กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ การศึกษานี้พบการสวนทางกันระหว่างอัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิต ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ขณะโรคโควิด 19 ระบาดและประสิทธิผลของมาตรการการป้องกันโรคโควิด 19 ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย</p> ศิโรรัตน์ เขียวบ้านยาง ชุติมน สินธุประมา สุธรรม จิรพนากร ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ฐิติพร สุแก้ว Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 183 195 10.14456/dcj.2024.16 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการย้ายเข้า ICU ในผู้ป่วยกึ่งวิกฤตโรคติดเชื้อ COVID-19: การศึกษาการระบาดในระยะที่ 3 https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/262812 <p>จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 พบผู้ป่วยที่จำเป็นต้องย้ายเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (intensive care unit: ICU) ซึ่งมีหลายปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการย้ายเข้า ICU ในผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตในการระบาดระยะที่ 3 จำนวน 439 ราย ระหว่าง 1 พฤษภาคม ถึง 30 กันยายน 2564 คัดออก 15 ราย เนื่องจากเสียชีวิตที่หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต คงเหลือกลุ่มตัวอย่าง 424 ราย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และการถดถอยลอจิสติกพหุคูณ นำเสนอด้วยค่า Adjusted Odds Ratio (aOR) ที่ช่วงความเชื่อมั่น 95% ผลการศึกษาพบผู้ป่วยกึ่งวิกฤตโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นเพศชาย 207 ราย (ร้อยละ 48.8) อายุเฉลี่ย 59.8 ปี (SD=16.05) ผู้ป่วย 75 ราย (ร้อยละ 17.7) ย้ายไป ICU และ 349 ราย (ร้อยละ 82.3) ไม่ได้ย้ายเข้า ICU ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการย้ายเข้า ICU ได้แก่ ผู้ป่วยที่ทำ awakening prone (aOR 1.88; 95% CI; 1.01-3.51) และค่าความเข้มข้นของออกซิเจน (FiO<sub>2</sub>) มากกว่า 0.6 (aOR 8.32; 95% CI; 4.36-15.86) ผลการศึกษานี้สามารถนำไปเป็นข้อมูลสนับสนุน เพื่อหาวิธีลดอัตราการเข้า ICU โดยไม่ได้วางแผน และเฝ้าระวังในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น</p> วรันต์พร พนสิทธิวนา ชลิดา เกิดภิรมย์ วาสนา ฬาวิน Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 196 206 10.14456/dcj.2024.17 กลยุทธ์การบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด 19 ด้วยพลังความร่วมมือ ของทุกภาคส่วน จังหวัดยะลา https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/267297 <p>ด้วยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) พบการแพร่ระบาดทั่วโลกและต้องมีการดำเนินงานควบคุมโรคให้ทันต่อสถานการณ์โรค จังหวัดยะลาได้ดำเนินการและกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการควบคุมโรคด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อควบคุมการระบาด จังหวัดยะลาพบการระบาดกลุ่มแรกจากการรวมกลุ่มกิจกรรมทางศาสนาในเดือนมีนาคม 2563 ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 จังหวัดยะลาได้เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ยกระดับการป้องกันโรคติดต่ออันตรายภายใต้การเฝ้าระวังและกำกับติดตาม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเป็นประธาน และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลาเป็นเลขานุการ วัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์กลยุทธ์และมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ของจังหวัดยะลา ในช่วงปี 2563-2566 ดำเนินการวิจัยโดยศึกษาจากเอกสาร มีขั้นตอนการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (content analysis) ผลการศึกษาพบว่ากลยุทธ์การดำเนินงานจังหวัดยะลามีการทำงานบูรณาการร่วมกันกับฝ่ายปกครองและสาธารณสุขผ่านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีกลยุทธ์การดำเนินงานทั้งหมด 6 กลยุทธ์ ประชาชนให้ความร่วมมือการควบคุมป้องกันโรค และมีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เข็มที่ 1 ร้อยละ 66.69 มากกว่าจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส สำหรับข้อเสนอแนะกลยุทธ์การจัดการที่ควรแก้ไข คือการจัดทำแผนประคองกิจการของหน่วยงาน เพื่อรองรับสถานการณ์โรคและการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่เพื่อการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพต่อไป</p> รูซีลา โตะกีเล Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 207 221 10.14456/dcj.2024.18 ความรู้ การรับรู้ประโยชน์และการรับรู้ความเสี่ยงของวัคซีนโควิด 19 ในนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/268859 <p>การศึกษาแบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ การรับรู้ประโยชน์ และการรับรู้ความเสี่ยงของวัคซีนโควิด 19 ในนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี ทำการศึกษาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ. 2565 ประชากร คือ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลักสูตรในเวลาและหลักสูตรเทียบโอนนอกเวลาราชการของวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี มีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 145 คน สถิติที่ใช้ ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน กำหนดนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงร้อยละ 89.0 ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (95%CI: 8.04 ถึง 8.46 คะแนน) การรับรู้ประโยชน์ของวัคซีนโควิด 19 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (95%CI: 16.18 ถึง 16.90 คะแนน) และรับรู้ความเสี่ยงเกี่ยวการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยภาพรวมในระดับมาก (95%CI: 27.34 ถึง 28.54 คะแนน) ถึงแม้ว่าความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนรายข้อ เช่น ประเภทของวัคซีน และการให้วัคซีนในสตรีให้นมบุตรยังอยู่ในระดับน้อย ดังนั้น จึงควรมีการเพิ่มพูนความรู้ด้านดังกล่าวให้กับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมากขึ้น</p> นฤมล กิ่งแก้ว Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 222 232 10.14456/dcj.2024.19 ผลของโปรแกรมการประยุกต์ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ดูแลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคมือเท้าปากในเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน องค์การบริหารส่วนตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/268387 <p>การวิจัยเชิงทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการประยุกต์ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ดูแลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคมือเท้าปากในเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน องค์การบริหารส่วนตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ดูแลเด็ก จำนวน 35 คน เป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการประยุกต์ทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมที่สร้างขึ้น และผู้ดูแลเด็ก จำนวน 35 คน เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับโปรแกรมตามปกติ โดยการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบทดสอบความรู้ แบบประเมินทักษะ และแบบบันทึกอัตราป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติทดสอบ Paired t-test และ Independent t-test ผลการศึกษา พบว่า 1) ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก พฤติกรรมการป้องกันโรคมือเท้าปาก และทักษะการล้างมืออย่างถูกวิธี ดีขึ้นกว่าก่อนการทดลองและดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 2) ภายหลังการทดลอง เด็กก่อนวัยเรียนกลุ่มทดลองไม่พบอัตราป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ดังนั้นควรนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ดูแลเด็กในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก และควรพัฒนาสื่อดิจิทัล เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ พฤติกรรมการป้องกันโรค และทักษะการล้างมือ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคมือเท้าปาก</p> สุธิษา พรหมเอาะ สาโรจน์ เพชรมณี ธณกร ปัญญาใสโสภณ Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 233 244 10.14456/dcj.2024.20 การพัฒนาศูนย์การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแนวใหม่แบบมีส่วนร่วม ของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/267613 <p>การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศูนย์การจัดการโรคเรื้อรังแนวใหม่แบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ และศึกษาผลลัพธ์ของการพัฒนาศูนย์การจัดการโรคเรื้อรังแนวใหม่แบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ การวิจัยดำเนินการเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2565 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเฉพาะรายในชุมชน ระยะที่ 2 กระบวนการพัฒนา และ ระยะที่ 3 การศึกษาผลลัพธ์การพัฒนา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาในการอธิบายคุณลักษณะส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่าง การรับรู้ภาวะสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพ ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพประกอบด้วย มุมมองด้านระบบริการ มุมมองด้านลูกค้า และมุมมองด้านงบประมาณ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า ผลลัพธ์ของการพัฒนา ประกอบด้วย 1) มุมมองด้านระบบบริการ พบว่า มีศูนย์การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแนวใหม่ จำนวน 1 ศูนย์ มุมมองด้านลูกค้า พบว่า คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในภาพรวมอยู่ในระดับดี ร้อยละ 87.50 และมุมมองด้านงบประมาณ พบว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ และ 2) ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมและนำไปปฏิบัติ จำนวน 96 คน คิดเป็นร้อยละ 46.15 ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยมีผู้ป่วยสามารถเลิกยาควบคุมระดับไขมันในเลือด ลดการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 38 คน ร้อยละ 18.27 และแพทย์ได้วินิจฉัยให้หยุดการใช้ยารักษาโรค จำนวน 8 คน ร้อยละ 8.33 ดังนั้นรูปแบบการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแนวใหม่แบบมีส่วนร่วม จึงถือได้ว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ควรนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป</p> พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ ทองทิพย์ สละวงษ์ลักษณ์ ชูสง่า สีสัน อรรถวิทย์ สิงห์ศาลาแสง รชานนท์ ง่วนใจรัก ละม่อม กล้าหาญ Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 245 256 10.14456/dcj.2024.21 การพัฒนาภาคีเครือข่ายสุขภาพชุมชน ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในกลุ่มเสี่ยง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/266659 <p>การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มเสี่ยงในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ผ่านมาขาดการดำเนินงานในรูปแบบภาคีเครือข่าย ผู้วิจัยจึงดำเนินการพัฒนารูปแบบโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มภาคีเครือข่ายสหวิชาชีพ “ปักธงชัยโมเดล” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โรงพยาบาลปักธงชัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 20 คน และกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปักธงชัย จำนวน 257 ราย มีการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ การศึกษาข้อมูลเบื้องต้น กระบวนการพัฒนารูปแบบ และผลลัพธ์การทำงานของภาคีเครือข่าย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และแบบบันทึกการตรวจสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา นำเสนอด้วยค่า ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบข้อมูลด้วย paired t-test และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และนักวิชาการ ซึ่งมีหน้าที่ 1.1) จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพตามหลักยา 8 ขนาน 1.2) ประเมินผล 1.3) ถอดบทเรียน และ 1.4) ปรับการใช้ยา 2) ผลลัพธ์ของกระบวนการพบว่า 2.1) ได้โปรแกรมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย 2.2) ได้ระบบและกลไกการทำงานของภาคีเครือข่าย 2.3) ได้แนวปฏิบัติการปรับการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และ 2.4) ภาคีเครือข่าย มีความรู้ และทักษะเพิ่มขึ้นหลังการพัฒนา (<em>p</em>&lt;0.05) 3) ผลลัพธ์การทำงานของภาคีเครือข่ายพบว่า กลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมการจัดการตนเองสูงขึ้น (<em>p</em>&lt;0.05) สามารถควบคุมโรคและได้รับการปรับลด-เลิกยาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 60.14 64.14 และ 98.11 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบและผลลัพธ์ใหม่คือ 1) ผู้ป่วยเป็นหมอคนแรกในการดูแลตนเอง 2) เกิดสถานีสุขภาพแนวใหม่ที่ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ และ 3) มีเกณฑ์ปรับลด-เลิกยา ได้แก่ 3.1) มีอาการผิดปกติหลังรับประทานยา และมีระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต หรือไขมันในเลือดอยู่ในระดับต่ำ 3.2) มีการตรวจเลือดและวัดความดันโลหิตพร้อมบันทึกผลทุกสัปดาห์ และ 3.3) มีการปฏิบัติตนตามหลักยา 8 ขนาน ข้อเสนอแนะ : กลุ่มเสี่ยง ควรได้รับกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการจัดการตนเอง ควบคู่กับการปรับลด-เลิกการใช้ยาตามเกณฑ์ จึงจะป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้</p> ชูสง่า สีสัน พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ ทองทิพย์ สละวงษ์ลักษณ์ สมเกียรติ อินทะกนก ละม่อม กล้าหาญ จุฑามาศ ใบพิมาย พฤมล น้อยนรินทร์ Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 257 271 10.14456/dcj.2024.22 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความตระหนักของครูอาจารย์ต่อปัญหา การสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/264262 <p>การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความตระหนักของครูอาจารย์ต่อปัญหาการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา สุ่มตัวอย่างโดยวิธีการจับฉลากแบบไม่มีการแทนที่จากรายชื่อครูอาจารย์ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์คัดเข้าจนครบ 344 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึง มีนาคม พ.ศ. 2566 ด้วยแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 71.22 มีอายุเฉลี่ย 39.79 ปี (SD=9.86) มีวิทยฐานะครูชำนาญการ ร้อยละ 31.56 มีรายได้เฉลี่ย 34,480.10 บาท (SD=16,297.12) มีค่ามัธยฐานของอายุการทำงาน 10 ปี เคยรับทราบการจำหน่ายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทางอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 47.81 และเคยรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 77.03 เมื่อ<em>วิเคราะห์การถดถอยลอจิสติก</em>พหุคูณพบว่าครูอาจารย์ที่มีความสนใจในการรับทราบข้อมูลการจำหน่ายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทางอินเทอร์เน็ต มีความตระหนักดีต่อปัญหาการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนเป็น 4.35 เท่าของผู้ที่ไม่มีความสนใจในการรับทราบข้อมูลการจำหน่ายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทางอินเทอร์เน็ต (AOR=4.35, 95% CI 1.79 ถึง 11.11) ครูอาจารย์ที่มีทัศนคติระดับไม่ดีต่อบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มีความตระหนักดีต่อปัญหาการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนเป็น 3.45 เท่าของผู้ที่มีทัศนคติระดับพอใช้ถึงดีต่อบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (AOR=3.45, 95% CI 1.59 ถึง 7.69) ครูอาจารย์ที่มีรายได้ 35,001 บาทขึ้นไป มีความตระหนักดีต่อปัญหาการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนเป็น 2.83 เท่าของผู้ที่มีรายได้ 10,000-35,000 บาท (AOR=2.83, 95% CI 1.53 ถึง 5.23) และครูอาจารย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในระดับต่ำ มีความตระหนักดีต่อปัญหาการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนเป็น 2.06 เท่าของผู้ที่มีความรู้ในระดับปานกลางถึงสูง (AOR=2.06, 95% CI 1.12 ถึง 3.78) ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องควรสร้างความตระหนักดีของครูอาจารย์ต่อปัญหาการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเยาวชนโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยข้างต้น</p> จารุวรรณ ไตรทิพย์สมบัติ Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 272 288 10.14456/dcj.2024.23 การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ภายในอาคารของด่านพรมแดน กรณีศึกษา ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จังหวัดเชียงราย https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/267525 <p>งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ภายในอาคารของด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จังหวัดเชียงราย ในฤดูกาลท่องเที่ยว และการประเมินความเสี่ยงจากการรับสัมผัสก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ รูปแบบการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างแบบแพสซีฟ (passive sampling methods) เครื่องมือที่ใช้คือหลอดแพสซีฟ (passive sampler) พื้นที่และจุดเก็บตัวอย่าง ได้แก่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (BC1) จุดตรวจสอบเอกสารผู้เดินทางขาเข้าประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากร (BC2) ห้องสำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองผู้เดินทางขาเข้าประเทศ (BC3) ห้องสำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองผู้เดินทางขาออกประเทศ (BC4) และจุดตรวจสอบเอกสารผู้เดินทางขาออกประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร (BC5) ทำการเก็บตัวอย่างในช่วงเดือนมกราคม ถึงเมษายน 2566 ทุก ๆ 1 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ภายในอาคารอยู่ในช่วง 15.1 (SD 2.3) ถึง 88.3 (SD 30.6) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m<sup>3</sup>) และมีค่ามัธยฐานอยู่ในช่วง 15.3 ถึง 93.6 µg/m<sup>3</sup> โดยพบว่าแต่ละจุดเก็บตัวอย่างต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและจุดตรวจสอบเอกสารผู้เดินทางขาเข้าประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากร (BC2) มีค่าสูงที่สุด ความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับจำนวนรถบรรทุกอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทำการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยการคำนวณจากค่าสัดส่วนความเสี่ยงรับสัมผัส (hazard quotient: HQ) พบว่าค่าเฉลี่ย HQ ของการรับสัมผัสก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ของวัยเด็กมีค่ามากกว่าวัยผู้ใหญ่มีค่าเกิน 1.0 แสดงว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสิ่งคุกคามที่ไม่ก่อมะเร็ง</p> ปิยะพันธ์ เชื้อเมืองพาน ธิติพงษ์ พลอยเหลือง โสภิดา สุโพธิณะ กัญรารัตน์ ปวงบุตร ศุษิระ บุตรดี Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 289 303 10.14456/dcj.2024.24 ผลของกิจกรรมการมีส่วนร่วมและการรับรู้ด้านความปลอดภัยที่ส่งต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน: กรณีศึกษาในลูกจ้างโรงงานผลิตหมึกพิมพ์ จังหวัดสมุทรสาคร https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/266345 <p>การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลองกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับการรับรู้ด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน ก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การตั้งเป้าหมาย การตัดสินใจ การให้ข้อมูล การกำหนดวิธีปฏิบัติงาน และการร่วมประเมินผล โดยเก็บข้อมูลในลูกจ้างฝ่ายผลิตหมึกพิมพ์ โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 25 คน โดยใช้แบบสอบถามและแบบสังเกตพฤติกรรม วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติ Wilcoxon signed-rank test ผลการวิจัย พบว่ากลุ่มตัวอย่างได้วางแผนและคัดเลือกพฤติกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ โดยมี 3 พฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างทุกคนมีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การไม่หนีบสายดินที่ถังเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต การไม่สวมรองเท้านิรภัย และหน้ากากป้องกันสารเคมี ผลการเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลองของระดับการรับรู้ด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน พบว่ามีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ดังนั้น นายจ้างจึงควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่งเสริมความความปลอดภัย เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้พนักงานเกิดการรับรู้ด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องและมีพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของพนักงาน อันจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กรที่ยั่งยืนได้</p> นันทพร ภัทรพุทธ กิติยาวดี พุทธก้อม สุจี ภัทรพุทธ ศรีรัตน์ ล้อมพงศ์ Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 304 313 10.14456/dcj.2024.25 ประสิทธิผลของการสวมใส่เข็มขัดพยุงหลังในขณะทำงาน ของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/266238 <p>การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการสวมใส่เข็มขัดพยุงหลังในขณะทำงานของบุคลากรทางการแพทย์แผนกซักฟอก คลังพัสดุ เจ้าหน้าที่เวรเปลและอาคารสถานที่ ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจังหวัดชลบุรี ศึกษาวิจัยเชิงทดลองในรูปแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomised controlled trial: RCT) สุ่มตัวอย่างโดยการแยกประเภท (stratified randomization) แบ่งประเภทด้วยแผนก อายุ เพศ เปรียบเทียบอาการปวดคอ หลังและสะโพก การใช้ยาบรรเทาอาการปวด การลาป่วยและปัจจัยด้านทุพพลภาพจากอาการปวดหลังด้วยแบบประเมินโรแลนด์-มอร์รีสระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ได้ใช้เข็มขัดพยุงหลัง กลุ่มละ 26 คน โดยทั้งสองกลุ่มจะได้รับการอบรมเรื่องการยศาสตร์ร่วมด้วย ประเมินผลทุกสัปดาห์ รวมระยะเวลา 1 เดือน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ใช้เข็มขัดพยุงหลัง มีค่ามัธยฐานคะแนนอาการปวดคอ หลังส่วนบน หลังส่วนล่างและสะโพกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับอาการปวดก่อนใช้เข็มขัดพยุงหลัง โดยหลังส่วนล่างเป็นตำแหน่งเดียวที่มีความแตกต่างของอาการปวดระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังการศึกษา และช่วยลดการลาป่วยจากอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่พบความแตกต่างของอัตราการใช้ยาบรรเทาปวดและปัจจัยด้านทุพพลภาพจากอาการปวดหลัง บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจหลังการใช้เข็มขัดพยุงหลังอยู่ในระดับมาก แต่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เช่นคิดว่าเข็มขัดพยุงหลังเป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (ร้อยละ 76.9) สามารถยกและเคลื่อนย้ายวัสดุโดยไม่ต้องสนใจท่าทางการยกที่ถูกต้อง (ร้อยละ 26.9) และสามารถยกของได้หนักมากขึ้นโดยปลอดภัย (ร้อยละ 76.9) ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนการใช้เข็มขัดพยุงหลังที่มีคุณภาพที่มีการขึ้นทะเบียนในการใช้เป็นเครื่องมือแพทย์และให้คำแนะนำในการใช้เข็มขัดพยุงหลังด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และใช้หลักการยศาสตร์ในการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุอย่างปลอดภัยร่วมด้วยเสมอ</p> เอกรินทร์ ลักขณาลิขิตกุล Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 314 329 10.14456/dcj.2024.26 ผลของโปรแกรมการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วมในการปรับปรุงสภาพงานเพื่อลดความเสี่ยงของกล้ามเนื้อและกระดูกในพนักงานโรงงานคอนกรีตแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/266714 <p>การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วมเพื่อลดความเสี่ยงทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกในพนักงานของโรงงานคอนกรีตแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เป็นการศึกษาวิจัยกึ่งทดลองในพนักงาน จำนวน 97 คน เปรียบเทียบความเสี่ยงทางการยศาสตร์ อาการปวดกล้ามเนื้อ การใช้ยาบรรเทาอาการปวดและการลาป่วย ทั้งก่อนและหลังการปรับปรุงสภาพงานด้วยวิธีทางวิศวกรรม การบริหารจัดการและการแก้ไขที่ตัวพนักงานด้วยสถิติ Paired sample t-test ดำเนินกิจกรรมรวมระยะเวลา 90 วัน ผลการศึกษาพบว่า ทุก ๆ แผนกมีความเสี่ยงทางการยศาสตร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติภายหลังการศึกษา โดยลดลงมากที่สุดในแผนกทำความสะอาดแม่พิมพ์ (<strong>95% CI 4.09-6.17) พนักงานมีอาการปวดกล้ามเนื้อลดลงบริเวณคอ ไหล่ หลังและสะโพก โดยมีอาการปวดลดลงมากที่สุดบริเวณหลังส่วนล่าง </strong>(<strong>95% CI 1.60-2.04) พนักงานมีความรู้และทัศนคติทางการยศาสตร์ดีขึ้น (95% CI 5.56-7.30 และ 1.23-1.50 ตามลำดับ) การใช้ยาบรรเทาปวดและการลาป่วยด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อลดลง (95% CI 0.41-1.64 และ 0.22-0.78 ตามลำดับ) ปัจจัยในความสำเร็จ</strong>ได้แก่ การสนับสนุนจากพนักงานทั้งองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารถึงผู้ปฏิบัติงาน มีคณะกรรมการในการดำเนินการ มีการกำหนดทรัพยากรในการดำเนินการ มีการให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ และให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การวิจัยที่ควรศึกษาต่อไปคือการวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของหลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วมให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นวิธีการสำคัญในการแก้ปัญหาด้านการยศาสตร์ให้กับผู้ประกอบอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย</p> เอกรินทร์ ลักขณาลิขิตกุล Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 330 344 10.14456/dcj.2024.27 ประเมินผลมาตรการการดำเนินงานของทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ในการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา https://he01.tci-thaijo.org/index.php/DCJ/article/view/265755 <p>โรคติดต่อระหว่างประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีระบบการป้องกันควบคุมโรคระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง ซึ่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรค การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเมินผลมาตรการทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ด้านกระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ และทราบปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากกระบวนการดำเนินงานตามมาตรการทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ในปี 2560-2561 เป็นการวิจัยประเมินผลแบบประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการหรือประเมินผลผลิต (summative evaluation) เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสัมภาษณ์กลุ่ม โดยกำหนดการประเมินผลเป็น 2 ประเด็นประเมินผล (Key Results Area: KRA) และ 6 ตัวชี้วัด (Key Performance Index: KPI) ทำการศึกษาในพื้นชายแดน 3 ชายแดน ได้แก่ 1) ชายแดนไทย–เมียนมาร์ ในจังหวัดระนองและตาก 2) ชายแดนไทย–ลาว ในจังหวัดอุบลราชธานีและหนองคาย 3) ชายแดนไทย–กัมพูชา ในจังหวัดตราดและสระแก้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้การวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการจำแนกข้อมูล (typological analysis) คือ การจำแนกข้อมูลเป็นชนิด (typologies) และนำมาวิเคราะห์แบบอุปนัย (analytic induction) ผลการศึกษาพบว่า ผลการประเมินมาตรการ SRRT ในภาพรวมเท่ากับค่าเป้าหมาย โดยมีคะแนน 2.22 จากค่าคะแนนเต็ม 3.0 ซึ่งแสดงว่ามาตรการ SRRT มีศักยภาพในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ชายแดน จังหวัดที่มีผลการดำเนินงานสูงกว่าเป้าหมาย 1 จังหวัด คือ ตาก มีคะแนน 2.61 ปัญหาอุปสรรคที่พบจำแนกเป็นประเด็น ดังนี้ 1) การเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานบ่อย 2) งบประมาณไม่เพียงพอ 3) วัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ 4) การประสานงานกับหน่วยงานอื่น 5) นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สอดคล้องกัน 6) การพัฒนาศักยภาพไม่ครอบคลุมทุกโรค 7) เขียนรายงานสอบสวนโรคยังไม่ครบทุกเหตุการณ์ เนื่องจาก SRRT มีภาระงานเยอะ และ 8) ข้อจำกัดด้านภาษา ข้อเสนอแนะเนื่องจากพื้นที่ชายแดนมีความซับซ้อนมากกว่าพื้นที่อื่นจึงควรมีการสร้างภาคีเครือข่ายที่หลากหลายและครอบคลุม รวมถึงพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรงกับปัญหาในพื้นที่ชายแดน จึงจะทำให้ปัญหาสาธารณสุขชายแดนได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและยั่งยืน</p> อภิญญา ดวงสิน บัญชา พร้อมดิษฐ์ พูลศรี ศิริโชติรัตน์ อุษารัตน์ ติดเทียน สำรวย ศรศรี Copyright (c) 2024 วารสารควบคุมโรค https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 2024-06-29 2024-06-29 50 2 345 358 10.14456/dcj.2024.28